ประวัติการเจ็บป่วย
คุณณัฏฐวรรณ อายุ 35 ปี เป็นพนักงานบริษัทเอกชน เกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกมานาน 6 สัปดาห์ แต่อาการยังไม่หาย ยังคงมีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวันดังนี้
- เจ็บข้อเท้าซ้าย
- เวลากระดกข้อเท้าขึ้นลงจะเสียวรอบๆ ข้อเท้า
- นั่งทับขาไม่ได้ นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิไม่ได้
- เดินใส่ส้นสูงไม่สะดวก
- ขณะเดินขึ้นทางชันหรือเนิน จะปวดเสียวข้อเท้า
จากประวัติในอดีต ผู้ป่วยเคยมีปัญหาข้อเท้าพลิกข้างขวา เมื่อปี 2561 และได้เคยมารักษาที่ชนัชพันต์คลินิกไป 1 ครั้ง อาการดีขึ้นหลังจากการรักษา 100% ดังนั้นในครั้งนี้ที่เกิดปัญหาข้อเท้าพลิกอีกครั้ง จึงมารักษาที่ชนัชพันต์คลินิกเช่นเคย โดยหลังจากการรักษาพบว่า
- หลังจากนวดรักษาทันที : อาการดีขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถนั่งทับขาได้ กระดกข้อเท้าขึ้นลงได้ปกติโดยไม่มีอาการเจ็บเสียวข้อเท้าแล้ว แต่ยังคงมีอาการระบมหลังจากนวด จึงให้ผู้ป่วยสังเกตุอาการต่อที่บ้าน
- หลังจากนวดผ่านไป 2 สัปดาห์ : ทางคลินิกได้ติดต่อไปสอบถามผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยหายปวดข้อเท้าแล้ว สามารถเดินใส่ส้นสูงได้ เดินขึ้นเนิน หรือเดินขึ้นลงบันไดได้ปกติ
ตำแหน่งที่พบปัญหา
อาการข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง เป็นการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ทำให้ข้อเท้าเกิดการอักเสบ มีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณข้อเท้าตามมา ซึ่งหากการบาดเจ็บไม่รุนแรงมากนัก การทานยาลดปวด ลดอักเสบ ก็สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้
แต่ในกรณีที่มีการบาดเจ็บที่รุนแรง แพทย์อาจจะต้องดาม หรือใส่เฝือก เพื่อพักการใช้งาน โดยหลังจากถอดเฝือกแล้ว ผู้ป่วยบางท่านอาจยังมีอาการบาดเจ็บหลงเหลืออยู่ และยังไม่สามารถใช้งานข้อเท้าได้อย่างเต็มที่ เช่น อาจมีอาการปวดเสียว แปล๊บที่ข้อเท้าบางจังหวะ หรือลงน้ำหนักที่เท้าได้ไม่เต็มตามปกติ เป็นต้น โดยตำแหน่งที่พบการบาดเจ็บของอาการข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลงที่พบบ่อย มีดังนี้
เส้นเอ็นยึดกระดูกข้อเท้าด้านนอก พบในการบาดเจ็บข้อเท้าด้านนอก หรือตาตุ่มด้านนอก (ข้อเท้าพลิกออกด้านนอก)
- Anterior talofibular ligament (ATFL) เป็นเส้นเอ็นที่เกิดการบาดเจ็บบ่อยที่สุด
- Posterior talofibular ligament (PTFL) พบการบาดเจ็บได้น้อย จึงพบได้ในการบาดเจ็บที่มีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
- Calcaneofibular ligament (CFL) มักเกิดการบาดเจ็บได้บ่อยรองลงมาจาก ATFL
เส้นเอ็นยึดกระดูกด้านใน พบในการบาดเจ็บข้อเท้าทางด้านใน เช่น ข้อเท้าพลิกเข้าด้านใน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับข้อเท้าด้านนอก นอกจากนี้เส้นเอ็นยึดกระดูกข้อเท้าด้านใน ยังมีความแข็งแรงกว่าเส้นเอ็นยึดกระดูกข้อเท้าด้านนอก จึงเกิดการบาดเจ็บได้ยากกว่า จึงมักเกิดการบาดเจ็บของข้อเท้าที่รุนแรง หรือร่วมกับภาวะกระดูกแตก หักได้
สำหรับเคสของผู้ป่วยท่านนี้ ลักษณะการพลิกของข้อเท้าเป็นการพลิกของข้อเท้าออกทางด้านนอก ทำให้มีการบาดเจ็บมากบริเวณตาตุ่มด้านนอก ทำให้เส้นเอ็นยึดกระดูกข้อเท้าด้านนอกบาดเจ็บเป็นหลัก จึงพบปัญหาที่บริเวณ
- Calcaneofibular ligament (CFL) เป็นเส้นเอ็นบริเวณตาตุ่มด้านนอก โดยเส้นเอ็นมัดนี้มักพบการบาดเจ็บได้บ่อยในผู้หญิงที่ใส่ส้นสูง แล้วข้อเท้าพลิก ดังนั้นในผู้ป่วยเคสนี้ จึงพบการบาดเจ็บหลักบริเวณเส้นเอ็นชุดนี้
- Anterior talofibular ligament (ATFL) เป็นเส้นเอ็นบริเวณตาตุ่มด้านนอก เป็นจุดเจ็บที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยข้อเท้าพลิกออกด้านนอก ซึ่งจากเคสของผู้ป่วยท่านนี้ ก็พบการอักเสบของเอ็นข้อเท้าชุดนี้ด้วยเช่นกัน
- Achiles tendon หรือเอ็นร้อยหวาย มีการเกร็งตัวร่วมด้วย ทำให้มีอาการตึงเอ็นร้อยหวาย
- นอกจากนี้ยังต้องนวดคลายกล้ามเนื้อบริเวณเท้าร่วมด้วย เนื่องจากพอเกิดการบาดเจ็บของข้อเท้า กล้ามเนื้อบริเวณที่สัมพันธ์กันจะเกิดการหดเกร็งร่วมด้วย ได้แก่ กล้ามเนื้อ Extensor digitorum brevis of foot และ Extensor hallucis brevis ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบนหลังเท้า ที่เกิดการเกร็งตัวเนื่องจากการลงน้ำหนักเท้าได้ไม่เต็มที่
ความรุนแรงของอาการปวดข้อเท้าในระดับต่างๆ
ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง เป็นการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าโดยตรง พบมากในการเล่นกีฬา โดยเฉพาะการวิ่ง จากอุบัติเหตุสะดุดล้ม หรือการใส่รองเท้าส้นสูง และเดินผิดจังหวะ เป็นต้น เมื่อเกิดข้อเท้าพลิก จะเกิดการอักเสบตามมา โดยจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณข้อเท้า จากนั้นการอักเสบจะค่อยๆ ลดลง และแสดงอาการบาดเจ็บที่แท้จริงว่ามีส่วนใดที่ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งอาการจะมาก หรือน้อยนั้น จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของข้อเท้าที่พลิกไป ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
- การบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าเล็กน้อย ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก โดยจะมีอาการกดเจ็บบริเวณจุดที่พลิก แต่ยังสามารถเดินลงน้ำหนักที่เท้าได้ ซึ่งการบาดเจ็บในระดับนี้สามารถหายเองได้ เพียงพักการใช้งานในช่วงที่อักเสบ และหลีกเลี่ยงการใช้งานหนัก เช่น เล่นกีฬา หรือการวิ่งออกไปก่อนจนกว่าอาการจะหายดี
- การบาดเจ็บรุนแรงปานกลาง ในระดับนี้เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อบริเวณข้อเท้า จะมีการฉีกขาดบางส่วน ผู้ป่วยมักมีอาการปวด บวม แดง หรือมีการอักเสบเกิดขึ้นบริเวณข้อเท้า ทำให้ลงน้ำหนักที่เท้าได้ไม่เต็มที่ การรักษาในระดับนี้อาจจะต้องทานยาลดการอักเสบ ซึ่งหลังจากหายอักเสบแล้ว ในผู้ป่วยบางรายอาจยังมีอาการปวดแปล๊บที่ข้อเท้าบ้างบางจังหวะ หรืออาจหลงอาการเจ็บเล็กน้อยในบางอิริยาบถ
- การบาดเจ็บรุนแรงมาก ซึ่งมักจะส่งผลให้เส้นเอ็น หรือเนื้อเยื่อบริเวณข้อเท้าฉีกขาด ผู้ป่วยจะลงน้ำหนักที่เท้าไม่ได้เลย ต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วย หรือบางรายที่มีกระดูกแตกร้าวร่วมด้วย อาจจะต้องใส่เฝือกไว้ระยะหนึ่ง ซึ่งการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนี้ จะมีระยะพักฟื้นที่ค่อนข้างนานหลายเดือน และในหลายๆ ท่านเมื่อถอดเฝือกแล้ว จะยังกลับมามีอาการปวด ขัด หรือรู้สึกข้อเท้าหลวม ในบางรายอาจมีอาการแปล๊บไฟช็อต ชา ยิบซ่าๆ เหมือนเข็มแทง ซึ่งเป็นการอักเสบของเส้นประสาทที่ยังไม่หายสนิท และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างตรงจุด หรือมีประสิทธิภาพ อาการก็จะทรุดหนักลง หรืออาจลุกลามไปบริเวณหัวเข่า และสะโพก เป็นต้น
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยที่บาดเจ็บในระดับปานกลาง และรุนแรงนั้น การพักการใช้งานเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้อาการหายได้ เพราะฉะนั้นควรต้องได้รับการรักษาต่อไป หากรักษาได้อย่างตรงจุดอาจใช้เวลาเพียง 1-2 เดือน แต่หากปล่อยเรื้อรัง และเป็นหนักขึ้น อาจใช้เวลารักษาที่นาน หรืออาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อให้ข้อเท้าสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
กลับสู่สารบัญทำไมการนวดสลายพังผืดจึงมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดข้อเท้า
การรักษาที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยรักษาอาการข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง ให้เห็นผลที่ชัดเจนนั้น คือการกำจัดสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวด บวม อักเสบออกจนหมด
กล่าวคือ เมื่อเกิดการบาดเจ็บ หรือการอักเสบของเนื้อเยื่อ จากเหตุการณ์ข้อเท้าพลิก หรือข้อเท้าแพลง ร่างกายจะสร้างพังผืดขึ้นตามมา โดยพังผืดนั้นจะเข้าไปเกาะคลุมเนื้อเยื่อที่เกิดการบาดเจ็บ ได้แก่ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือข้อต่อ บริเวณข้อเท้า ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนี้ขาดความยืดหยุ่น ข้อต่อติดขัด ส่งผลให้ขณะเดิน หรือลงน้ำหนักที่ข้อเท้าในบางจังหวะ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวด แปล๊บ เสียว หรือเจ็บอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น พังผืดนี้เอง ที่เป็นสาเหตุหลักของอาการบริเวณข้อเท้าที่ยังเหลืออยู่ ดังนั้นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ต้องเป็นการรักษาที่สามารถสลายพังผืดออก ถึงจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ถาวร เมื่อพังผืดถูกสลายออกจนหมด เส้นเอ็นก็จะกลับมามีความยืดหยุ่น ข้อที่ติดขัดก็จะกลับมาปกติ จึงทำให้อาการปวด ขัด เสียวแปล๊บของข้อเท้าหายได้โดยถาวร และไม่กลับมามีอาการซ้ำๆ อีกในอนาคต
กลับสู่สารบัญเคสผู้ป่วยที่หายจากอาการปวดข้อเท้า ด้วยวิธีการนวดสลายพังผืด
1. อาการปวดข้อเท้า ปวดเอ็นร้อยหวาย ข้อเท้าบวม
ก่อนมารักษาผู้ป่วยมีอาการปวดเรื้อรังมานาน 2 สัปดาห์ โดยมีอาการดังนี้
- ปวดข้อเท้า โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้า ปวดลามขึ้นเอ็นร้อยหวาย และน่อง
- ข้อเท้าบวม ตาตุ่มบวม
- เดินลงน้ำหนักเท้าขวาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เดินกระเผลก
หลังการรักษาทันที
- ผู้ป่วยสามารถเดินได้ปกติ ลงน้ำหนักที่เท้าได้เต็มที่
- อาการปวดหายไปหลังจากนวด
- อาการบวมค่อยๆ ลดลงภายใน 3-7 วัน
2. อาการเท้าพลิก ต้องใช้ไม้ค้ำ ลงน้ำหนักไม่ได้ รู้สึกเหมือนมีเข็มแทงที่ฝ่าเท้า
ผู้ป่วยท่านนี้มีปัญหาข้อเท้าพลิกมาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ได้รักษาด้วยการใส่เฝือกอ่อนมา 1 สัปดาห์ เมื่อถอดเฝือกออกแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น ต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินอยู่ตลอด โดย
ก่อนมารักษาผู้ป่วยมีอาการ
- ปวดข้อเท้า ข้อเท้าบวม อักเสบ
- เดินกระเผลก เนื่องจากลงน้ำหนักที่เท้าได้ไม่เต็มที่ ต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงเดิน
- เจ็บฝ่าเท้าเหมือนโดนเข็มแทง
หลังจากรักษาไป 2 ครั้ง อาการดีขึ้นได้ 100%
- ไม่ปวดข้อเท้าแล้ว
- ไม่มีอาการเข็มแทงที่ฝ่าเท้า
- เดินลงน้ำหนักเท้าได้เต็มที่ ไม่กระเผลก ไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยแล้ว
3. อาการตาตุ่มบวม แดง ร้อน โรคเกาต์เทียม
ในเคสนี้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อเท้า โดยเฉพาะตาตุ่มด้านนอก บริเวณตาตุ่มบวมอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยได้ไปพบแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อรักษาอาการดังกล่าว แพทย์สันนิษฐานว่ามีภาวะของโรคเกาต์ แต่เมื่อตรวจผลค่ายูริคกลับไม่พบความผิดปกติ จึงได้ตรวจร่างกายเพิ่มเติม และแจ้งว่าผู้ป่วยมีภาวะของโรคเกาต์เทียม ซึ่งจะมีลักษณะอาการปวด บวม แดง ร้อน หรือมีการอักเสบของข้อ เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการให้ยา เพื่อลดการอักเสบของข้อที่เกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยก็ยังไม่ดีขึ้น
ก่อนมารักษาผู้ป่วยมีอาการ
- ปวดรอบข้อเท้า ลามขึ้นเอ็นร้อยหวาย
- ตาตุ่มด้านนอกอักเสบ บวมแดง
- ทำให้เดินลงน้ำหนักเท้าได้ไม่เต็มที่ เดินกระเผลก
- กระดกข้อเท้าขึ้นลงได้ไม่สุด
หลังจากนวดรักษาครั้งที่ 1
- เดินได้ปกติ ลงน้ำหนักที่เท้าได้เต็มที่
- สามารถกระดกข้อเท้าขึ้นลงได้ โดยไม่มีอาการเจ็บ
- อาการบวม แดง หายไป
ข้อควรรู้ก่อนการนวดสลายพังผืด
ก่อนที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจเข้ารับการรักษาอาการปวดข้อเท้า ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง ด้วยวิธีนวดสลายพังผืด ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจในการรักษาให้ละเอียดเสียก่อน เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อตัวของผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยสามารถคลิกอ่านได้ที่นี่ ข้อควรรู้ก่อนการรักษาด้วยวิธีสลายพังผืด
บทส่งท้าย
ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง หรือมีการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า อาจถูกมองว่าเป็นอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อย และสามารถปล่อยให้หายเองได้ แต่ในความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เพราะทุกครั้งที่เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณข้อเท้า ร่างกายจะสร้างพังผืดขึ้นมายึดเกาะไว้ และหากไม่รักษา พังผืดที่ยึดเกาะจะค่อยๆ หนาตัวขึ้น และลุกลามไปบริเวณข้างเคียง ได้แก่ รอบข้อเท้า เอ็นร้อยหวาย น่อง ส้นเท้า ฝ่าเท้า หัวเข่า สะโพก เป็นต้น
เมื่อพังผืดเกาะยึดรั้งเนื้อเยื่อบริเวณข้อเท้ามากถึงจุดหนึ่ง ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดข้อเท้าบ่อยขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มรักษาด้วยวิธีทั่วไปๆ ไม่หาย ผลสุดท้ายอาจทำให้อาการบาดเจ็บลุกลามขึ้นด้านบน อาจเกิดอาการ ปวดน่อง ปวดเข่า หรือปวดสะโพกตามมา ซึ่งจะเริ่มรักษายากขึ้น หรือในบางเคสอาจมีอาการปวดข้อเท้ารุนแรง จนถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัด
ดังนั้นอาการปวดข้อเท้า จึงไม่ใช่อาการที่ควรถูกมองข้าม แต่ควรรีบรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ เพื่อการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ และเพื่อที่จะไม่ให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในอนาคต