อาการปวดข้อมือ หรือเอ็นข้อมืออักเสบนั้น สามารถพบได้บ่อยจากหลายสาเหตุ เช่น จากการใช้งานข้อมือหนัก การออกกำลังกาย หรือจากอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งอาการปวดข้อมือนี้ฟังดูเผินๆ เหมือนเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือปล่อยทิ้งไว้ จะสามารถกลายเป็นปัญหาที่รุนแรง จนถึงขั้นต้องผ่าตัดได้ ดังนั้นการรีบรักษาอาการปวดให้หายตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อไม่ให้อาการปวดกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต และเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปกับการผ่าตัดในอนาคต
ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงสาเหตุและลักษณะอาการปวดข้อมือในแบบต่างๆ รวมถึงเหตุผลที่ทำไมการนวดแก้อาการด้วยวิธีสลายพังผืด ถึงสามารถรักษาอาการปวดข้อมือ และเอ็นข้อมืออักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สารบัญ คลิกเลือกอ่านตามต้องการ
1. สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อมือ เอ็นข้อมืออักเสบ
- การใช้ข้อมือทำงานในท่าเดิมซ้ำๆ
- การใช้ข้อมือในการอุ้มลูกในคุณแม่หลังคลอด
- การใช้ข้อมือหนักในการเล่นกีฬา หรือใช้ข้อมือผิดจังหวะ
- การยกของหนัก
- อุบัติเหตุหรือการกระแทก
- ปวดบริเวณข้อมืออย่างเดียว
- ปวดข้อมือ และลามไปปวดบริเวณเนินนิ้วโป้ง โคนนิ้วโป้ง
- ปวดข้อมือ และลามไปปวดฝ่ามือ หรือมีอาการแสบร้อนฝ่ามือร่วมด้วย
- ปวดข้อมือ และลามไปปวดบริเวณนิ้วก้อย
- ปวดข้อมือ และลามขึ้นไปปวดแขน หรือข้อศอก
4. ทำไมฉีดยาแล้วยังไม่หายปวด หรือหายไประยะหนึ่งแล้วกลับมาปวดใหม่
5. ทำไมการนวดสลายพังผืดถึงสามารถรักษาอาการปวดข้อมือ เอ็นข้อมืออักเสบให้หายได้
6. ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจรักษาอาการปวดข้อมือ ด้วยการนวดสลายพังผืด
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อมือ เอ็นข้อมืออักเสบ
สาเหตุหลักของอาการปวดข้อมือ หรือเอ็นข้อมืออักเสบนั้น มักเกิดจากอิริยาบถที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือลักษณะการใช้งานข้อมือที่มากเกินไป จนเกิดการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเส้นประสาทบริเวณข้อมือ และเกิดเป็นพังผืดขึ้น ซึ่งพังผืดนี้จะไปยึดเกาะตาม กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท และจะไปขัดขวางไม่ให้เลือด สามารถไหลเวียนนำมาสารอาหาร และออกซิเจน ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ ได้สะดวก และทำให้เกิดอาการปวด ชา แสบร้อน หรืออาการผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น
เราสามารถแบ่งสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดข้อมือ หรือเอ็นข้อมืออักเสบได้ดังนี้
1. การใช้ข้อมือทำงานในท่าเดิมซ้ำๆ
การใช้กล้ามเนื้อข้อมือในท่าเดิมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณข้อมือเกิดการเกร็งตัวจนบาดเจ็บ ส่งผลให้เกิดพังผืดบริเวณข้อมือ และมีอาการปวดตามมา มักพบใน
- ผู้ที่ต้องใช้เมาส์เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในพนักงานออฟฟิศ ที่ต้องใช้เมาส์ รวมถึงพิมพ์งานอยู่เป็นประจำทุกวัน
- แม่ครัว พ่อครัว ผู้ปรุงอาหาร ที่ต้องใช้ข้อมือกระดกกระทะ หรือการสับ หั่น ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ผู้ที่เล่นเกมส์ในมือถือ หรือเล่นโดยใช้จอยเกมส์ ที่ต้องใช้ข้อมือเกร็งอยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน
- นักเล่นเครื่องดนตรี เช่น นักตีกลอง นักกีตาร์ นักระนาด หรือเครื่องเล่นที่มีการสะบัด หรือเกร็งข้อมืออย่างต่อเนื่อง
2. การใช้ข้อมือในการอุ้มลูกในคุณแม่หลังคลอด
คุณแม่หลังคลอดมักประสบปัญหาอาการปวดข้อมือ อันเนื่องมาจากการใช้ข้อมืออุ้มลูกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข้อมือเกิดการอักเสบขึ้น รวมถึงหากตัวลูกมีน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะ ก็จะทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณข้อมือ และแขนมากขึ้น เพื่อรองรับน้ำหนักของลูกที่เพิ่มขึ้น จนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณ นิ้วโป้ง และข้อมือ เกิดอาการเกร็ง และปวดข้อมือ และนิ้วโป้งตามมา
3. การใช้ข้อมือหนักในการเล่นกีฬา หรือ ใช้ข้อมือผิดจังหวะ
ทำให้ข้อมือเกิดการบาดเจ็บ และส่งผลให้มีอาการปวดขึ้น เช่น
- การออกกำลังกาย เช่น การยกเวท การวิดพื้น ที่เกิดแรงกดต่อข้อมือโดยตรง หากยกเวทโดยใช้น้ำหนักที่มากเกินไป หรือการลงแรงดันพื้นขณะวิดพื้นที่ผิดจังหวะ ก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บ และปวดข้อมือขึ้นได้
- การเล่นกีฬาจำพวกวอลเล่ย์บอล บาสเก็ตบอล ที่อาจเกิดแรงกระแทกระหว่างข้อมือกับลูกบอล ทำให้ข้อมือซ้น ส่งผลให้มีอาการปวดข้อมือตามมา
- การเล่นโบว์ลิ่ง ที่อาจเกิดการบาดเจ็บขณะออกแรงเหวี่ยงลูก
- การตีกอล์ฟที่อาจเกิดการบาดเจ็บขณะกระดก หรือบิดข้อมือ หรือการจับไม้ตีกอล์ฟที่แน่น หรือหลวมเกินไป
4. การยกของหนัก
การยกของที่หนักเกินพอดี จะทำให้ข้อมือได้รับแรงกดที่มากเกินไป และทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อมือขึ้น
5. อุบัติเหตุ หรือการกระแทก
อุบัติเหตุ เช่น การหกล้มเอามือยัน หรือการได้รับการกระแทกบริเวณข้อมือ สามารถส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ และอาการปวดบวมขึ้น
กลับสู่สารบัญอาการปวดข้อมือที่พบได้บ่อย
1. ปวดบริเวณข้อมืออย่างเดียว หรือเอ็นข้อมืออักเสบ อาจมีอาการบวมร่วมด้วย แต่จะไม่มีการลามหรือปวดบริเวณอื่น อาการปวดลักษณะนี้จะเป็นอาการที่ยังไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือตรงจุด ก็อาจลุกลามไปบริเวณข้างเคียง ทำให้อาการปวดกลายเป็นวงกว้าง และกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขยากขึ้น
2. ปวดข้อมือ และมีอาการปวดลามไปบริเวณเนินนิ้วโป้ง โคนนิ้วโป้ง หรือที่เรียกว่า เดอกาแวง หรือ เดอเกอร์แวง (De Quervain’s disease) ซึ่งเกิดจากปลอกหุ้มเอ็นข้อมือที่อยู่บริเวณด้านฝั่งนิ้วโป้งเกิดการบวม อักเสบ จนมีพังผืดเข้าไปยึดเกาะส่งผลให้ องศาการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วโป้งและข้อมือลดลง หรือเกิดการติดขัดขณะขยับ อาจมีอาการงอนิ้วได้ไม่สุด ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดมากขึ้นขณะหุบกางนิ้วโป้งออกเต็มที่ รวมถึงอาจมีอาการปวดบริเวณข้อมือ ขณะกระดกข้อมือขึ้นลง เป็นต้น
3. ปวดข้อมือ และมีอาการปวดลามไปที่ฝ่ามือ รวมถึงอาจมีอาการแสบร้อนฝ่ามือร่วมด้วย อาการนี้เรียกว่าโรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ (Carpal Tunnel syndrome , CTS) ซึ่งเกิดจากโพรงของเส้นประสาท บริเวณข้อมือตีบแคบลง จากพังผืดไปที่เข้าไปยึดเกาะ ทำให้เส้นประสาทหลักบริเวณข้อมือที่มีชื่อว่าเส้นประสาท Median ถูกบีบรัด จนไม่สามารถส่งสัญญาณ และทำงานได้ปกติ
ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดข้อมือ ร่วมกับอาการผิดปกติของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ได้แก่ ชามือ แสบร้อนฝ่ามือ ปวดแปล๊บเหมือนเข็มแทง/ไฟช็อต เป็นต้น หากการกดทับของเส้นประสาทมีความรุนแรงขึ้น ก็จะส่งผลทำให้มืออ่อนแรง หยิบจับสิ่งของลำบาก หยิบจับของหล่นหรือหลุดมือ เป็นต้น
4. ปวดข้อมือ และปวดลามไปบริเวณนิ้วก้อย หรือที่เรียกว่า โรคเส้นประสาทอัลนากดทับที่ข้อมือ (Ulnar Tunnel syndrome หรือ Guyon’s canal) ซึ่งอาการนี้จะเกิดจากพังผืดได้กดทับของเส้นประสาท Ulnar ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อด้านนิ้วก้อย ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดข้อมือทางฝั่งนิ้วก้อย และอาการจะปวดมากขึ้น เมื่อพลิกข้อมือคว่ำหงาย ผู้ป่วยอาจมีอาการชานิ้วก้อย หรือนิ้วนางร่วมด้วย หากการกดทับของเส้นประสาทรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้ฝ่ามือเกิดอาการอ่อนแรงได้
5. ปวดข้อมือ และปวดลามขึ้นแขนหรือข้อศอก มักเป็นอาการปวดข้อมือที่เรื้อรังมานาน จนลุกลามไปบริเวณข้างเคียงนอกเหนือจากข้อมือ โดยอาการมักจะเริ่มลุกลามจากบริเวณรอบๆ ได้แก่ ฝ่ามือ นิ้วมือ จนขึ้นไปถึงบริเวณแขน ข้อศอก และสามารถลามไปถึงบริเวณ คอ บ่า ได้ เนื่องจากพังผืดจากข้อมือที่ไม่ได้รับการรักษาจะค่อยๆ หนาตัวขึ้น และเริ่มลุกลามไปเกาะตามมัดกล้ามเนื้อ และเส้นประสาท ที่สัมพันธ์กันจนขยายเป็นวงกว้าง ทำให้การอักเสบลุกลามต่อเนื่อง ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดตั้งแต่บริเวณ ข้อมือ ข้อศอก คอ บ่า ไหล่ ซึ่งทำให้การรักษาแค่เพียงบริเวณข้อมือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
วิธีการรักษาในปัจจุบัน
1. การทานยาลดปวดลดอักเสบ
การทานยา เป็นวิธีบรรเทาอาการเบื้องต้นที่เรามักจะทำเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งการทานยานั้นสามารถช่วยระงับอาการปวดได้ดี ในเคสที่มีอาการไม่รุนแรง และไม่เรื้อรัง แต่ในผู้ที่มีอาการค่อนข้างมาก การทานยาอาจช่วยได้เพียงระงับอาการปวดชั่วคราว และผู้ป่วยมักจะกลับมาปวดเมื่อหมดฤทธิ์ยา
ยาที่นิยมรับประทานคือ ยาลดการอักเสบในกลุ่ม NSAID เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยา Arcoxia หรือ ยา Celebrex เป็นต้น
2. การฉีดยา
เมื่อทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปที่บริเวณข้อมือ เพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้น โดยการฉีดยานั้น แพทย์จะฉีดเฉพาะในจุดที่มีปัญหา เพื่อผลการรักษาที่ตรงจุด ซึ่งการฉีดยานี้จะได้ผลที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในเคสที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก และไม่รุนแรง ผลการรักษาอาจจะอยู่ได้นานหลายปี แต่ในเคสที่ผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังมานาน หรือมีอาการหนัก การฉีดยาอาจไม่สามารถช่วยระงับอาการได้ หรืออาจช่วยระงับอาการปวดได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นผู้ป่วยก็จะกลับมามีอาการเหมือนเดิม
3. กายภาพบำบัด
การรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดนี้จะแบ่งเป็น การทำกายบริหารด้วยตนเอง และ การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด
- การกายภาพด้วยตนเอง คือ เน้นบริหารข้อมือด้วยตนเอง ซึ่งวิธีนี้จะเน้นการขยับ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ ซึ่งวิธีนี้แพทย์มักแนะนำให้ทำหลังจากมีการพักหรืองดการใช้ข้อมือมาแล้วระยะหนึ่ง การกายภาพด้วยตนเองนี้จะได้ผลค่อนข้างดี ในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งมีอาการบาดเจ็บเป็นครั้งแรก หรือในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง และไม่เรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มาก่อน
- การกายภาพบำบัดโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การใช้ ultrasound, เลเซอร์ การทำ shockwave หรือการกระตุ้นไฟฟ้า เป็นต้น มีจุดมุ่งหมาย เพื่อลดการอักเสบ ลดอาการปวด บวม บริเวณข้อมือ ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย – ปานกลาง
แต่ในผู้ที่มีอาการสะสมมานาน หรือมีอาการรุนแรง การกายภาพบำบัดจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากการกายภาพบำบัดไม่ว่าจะเป็นการทำกายบริหาร หรือการใช้เครื่องมือ จะไม่สามารถสลายพังผืดที่ไปยึดเกาะบริเวณกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นข้อมือออกได้ ดังนั้นอาการปวดจึงดีขึ้นเพียงชั่วคราว หรืออาจจะมีอาการทรงๆ เป็นๆ หายๆ อยู่ตลอด
4. การนวด
การนวดโดยทั่วไปจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้อาการปวดตึงข้อมือลดน้อยลง การนวดจึงช่วยให้ผู้ที่มีอาการปวดข้อมือเล็กน้อยหรือผู้ที่เพิ่งเริ่มปวด มีอาการดีขึ้นได้
แต่การนวดที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถแก้อาการปวดข้อมือได้โดยตรงนั้น จะต้องเน้นไปที่การสลายพังผืดเป็นหลัก เนื่องจากอาการปวด ตึง แสบร้อน หรือชา ล้วนเกิดจากการที่มีพังผืดไปยึดเกาะบริเวณข้อมือ และทำให้กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นไม่สามารถทำงานได้ปกติ รวมถึงอาจไปกดทับรบกวนเส้นประสาทบริเวณข้อมือร่วมด้วย จึงทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ขึ้น ดังนั้นวิธีการรักษาด้วยการนวดสลายพังผืด จึงเป็นการรักษาที่ตรงจุดมากกว่าการนวดทั่วๆ ไป
5. การผ่าตัด
การผ่าตัดมักเป็นวิธีการสุดท้าย ที่ใช้ในการรักษาอาการปวดข้อมือ โดยหากผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดจะแบ่งเป็นการผ่าแบบแผลเปิด หรือ การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง โดยจะเป็นการผ่า เพื่อเลาะพังผืดที่บีบรัดบริเวณข้อมือออก จึงทำให้โพรงทางเดินของเส้นประสาทขยายกว้างขึ้น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น รวมถึงเส้นประสาทที่ถูกบีบรัดจึงคลายตัวออก ไม่กดเบียดกัน และทำให้อาการปวด และอักเสบบริเวณข้อมือลดลง
แม้ว่าการผ่าตัดจะช่วยแก้ปัญหาของอาการปวดข้อมือได้โดยตรง แต่การผ่าตัดบริเวณข้อมือนั้นมีข้อควรระวังค่อนข้างมาก เนื่องจากบริเวณข้อมือมีเส้นประสาทจำนวนมาก หากผ่าไปโดนเส้นประสาทบริเวณข้างเคียง ก็อาจทำให้เกิด อาการปวด/ชา/แสบร้อน หรืออาการอื่นๆ บริเวณนิ้ว ฝ่ามือ หรือแขน ตามชุดเส้นประสาทที่เสียหายไปได้
กลับสู่สารบัญทำไมฉีดยาแล้วยังไม่หายปวด หรือหายไประยะหนึ่งแล้วกลับมาปวดใหม่
ดังที่อธิบายไปแล้วข้างต้นว่า สาเหตุของอาการปวดข้อมือนั้น มักเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ เมื่อมีการบาดเจ็บ ร่างกายก็จะเริ่มสร้างพังผืดไปเกาะยึดตามจุดที่มีการบาดเจ็บ และเมื่อพังผืดมีจำนวนมากระดับหนึ่ง จะเริ่มไปบีบรัดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อกระดูก ทำให้เกิดการปวด ตึง ยึดล็อกของข้อต่อบริเวณข้อมือ ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อมือลดลง
หรือทำให้เกิดอาการปวด เมื่อขยับข้อมือในอิริยาบถต่างๆ เช่น การกระดกข้อมือขึ้นลง การใช้ข้อมือในการยกของ และหากพังผืดนี้ไปกดทับหรือรบกวนเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ก็จะทำให้มีอาการชา แสบร้อน อ่อนแรง บริเวณข้อมือหรือฝ่ามือได้ จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่เป็นปัญหาหลักในอาการปวดข้อมือนี้ คือพังผืดที่เข้าไปยึดเกาะ และรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ และเส้นประสาท ดังนั้นวิธีการรักษาที่ตรงจุด จะต้องมุ่งเน้นไปแก้ที่พังผืดที่ยึดเกาะ
แต่การฉีดยานั้น จะมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับความปวดและการอักเสบที่เกิดขึ้น ซึ่งถึงแม้จะให้ผลที่รวดเร็ว แต่ถือว่าเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ เนื่องจากการฉีดยานั้น ไม่ได้ช่วยสลายพังผืดหรือต้นเหตุของอาการปวดออกไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยที่รักษาอาการปวดข้อมือโดยการฉีดยาจะมีอาการดีขึ้นชั่วคราว และกลับมาปวดใหม่อีกครั้ง หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดเรื้อรัง อาจไม่ตอบสนองกับการฉีดยาเลย
ถ้าฉีดยาแล้วยังไม่หายจะต้องผ่าตัดไหม มีทางรักษาทางอื่นไหม
จากที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่า วิธีการรักษาที่มีประสิทธิและตรงจุด โดยไม่ต้องผ่าตัดนั้น จะต้องมุ่งเน้นไปที่การกำจัดสลายพังผืดที่รบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ และเส้นประสาทออกไป ซึ่งวิธีการดังกล่าวที่พบเจอในปัจจุบันจะอยู่ในรูปแบบของการนวดแก้อาการสลายพังผืดนั่นเอง
กลับสู่สารบัญทำไมการนวดสลายพังผืด ถึงสามารถรักษาอาการปวดข้อมือ เอ็นข้อมืออักเสบให้หายได้
การรักษาด้วยการนวดสลายพังผืดนี้ จะเน้นไปที่การสลายพังผืดซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ข้อมือ และฝ่ามือเกิดอาการ ปวด บวม อักเสบ แสบร้อน ชา อ่อนแรง
ดังที่อธิบายไปแล้วข้างต้นว่า สาเหตุของอาการปวดข้อมือนั้น มักเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ เมื่อมีการบาดเจ็บ ร่างกายก็จะเริ่มสร้างพังผืดไปเกาะยึดตามจุดที่มีการบาดเจ็บ และเมื่อพังผืดมีจำนวนมากระดับหนึ่ง จะเริ่มไปบีบรัดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อกระดูก
ทำให้เกิดการปวด ตึง ยึดล็อกของข้อต่อบริเวณข้อมือ ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อมือลดลง หรือทำให้เกิดอาการปวดเมื่อขยับข้อมือในอิริยาบถต่างๆ เช่น การกระดกข้อมือขึ้นลง การใช้ข้อมือในการยกของ และหากพังผืดนี้ไปกดทับหรือรบกวนเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ก็จะทำให้มีอาการชา แสบร้อน อ่อนแรง บริเวณข้อมือ หรือฝ่ามือได้
การนวดสลายพังผืดนั้น จะไม่เหมือนกับการนวดแผนไทย ซึ่งเน้นการนวดผ่อนคลายในกล้ามเนื้อบริเวณชั้นบน แต่การนวดสลายพังผืด จะเน้นนวดแก้พังผืดในมัดกล้ามเนื้อชั้นลึก รวมถึงเส้นเอ็น และเส้นประสาท โดยจะนวดไล่ตลอดทั้งแนวที่มีพังผืดเกาะยึด ได้แก่ บริเวณข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ รวมถึงส่วนที่มีการลุกลามไป เช่น แขน ข้อศอก หัวไหล่ เป็นต้น
การรักษาด้วยการนวดสลายพังผืด ถือเป็นวิธีรักษาแก้อาการปวดข้อมือได้อย่างตรงจุด ผู้ป่วยจึงมีอาการที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงและถาวร เหมาะสำหรับผู้ที่เคยผ่านการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล รวมถึงผู้ที่ไม่อยากผ่าตัด การนวดสลายพังผืดนั้นไม่มีอันตรายใดๆ และมีความปลอดภัยสูงเมื่อเทียบกับการผ่าตัด
ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจรักษาอาการปวดข้อมือ ด้วยการนวดสลายพังผืด
ก่อนจะตัดสินใจรักษาอาการปวดข้อมือ และเอ็นข้อมืออักเสบ ด้วยวิธีการนวดสลายพังผืดนั้น ผู้ป่วยควรพิจารณาสิ่งเหล่านี้ประกอบ
1. การนวดแก้อาการด้วยวิธีนี้ ถึงแม้ว่าจะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายอย่างถาวรได้ก็จริง แต่อาจไม่ได้หายภายในครั้งเดียว
ในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งเริ่มมีอาการปวดข้อมือ การนวดสลายพังผืดด้วยผู้ที่ชำนาญ อาจจะสามารถทำให้ดีขึ้นได้เลยภายในครั้งเดียว แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังมาสักระยะหนึ่งแล้ว อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษา ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้อาการหายช้าหรือเร็วนั้นจะขึ้นอยู่กับ
- ความเชี่ยวชาญของผู้นวดแก้อาการ
ผู้รักษาที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษา เมื่อตรวจอาการแล้วจะรู้ทันทีว่าต้นเหตุของอาการอยู่ที่ใด และต้องแก้ที่ตำแหน่งใด ซึ่งจะแตกต่างผู้รักษาที่ไม่มีความชำนาญโดยสิ้นเชิง เพราะผู้ที่ไม่มีความรู้ ความชำนาญ จะไม่สามารถแยกได้ว่ากล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท ที่มีความผิดปกตินั้นเป็นอย่างไร แล้วเชื่อมโยงไปที่จุดใดบ้าง
โดยในกรณีของการปวดข้อมือ ผู้ป่วยบางท่านไม่ได้ปวดเฉพาะข้อมืออย่างเดียว แต่อาจปวดนิ้วมือ ฝ่ามือ ปวดขึ้นแขน หรือมีอาการชาร่วมด้วย ดังนั้นการรักษาโดยผู้ที่ชำนาญการ จะสามารถรักษาได้ครอบคลุม ครบถ้วน ให้ผลการรักษาที่รวดเร็ว แม่นยำ และตรงจุดกว่าการรักษาโดยผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญ
- ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการสะสมมา
ในกรณีที่มีอาการปวดข้อมือเรื้อรัง หรือ มีอาการเป็นๆ หายๆ มานานในเคสลักษณะนี้ จะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่าผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการ เนื่องจากในผู้ป่วยที่มีอาการมานานนั้น พังผืดจะหนาตัวและจะแทรกลุกลามไปในชั้นกล้ามเนื้อชั้นลึกๆ หรือลามไปบริเวณใกล้เคียงจนรบกวนเส้นประสาทค่อนข้างชัดเจน เกิดเป็นอาการชา แสบร้อน ไฟช็อต เกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องรักษาหลายครั้งกว่าจะสลายพังผืดออกได้จนหมด
ในขณะที่ผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการไม่นานนั้น จะมีพังผืดเพียงเล็กน้อย และจะมีอยู่เพียงกล้ามเนื้อชั้นบนๆ ไม่ได้ฝังลงลึก และไม่ได้ลุกลามไปบริเวณอื่นๆ ดังนั้น จึงใช้เวลารักษาน้อยกว่า ได้ผลที่ชัดเจนกว่า และหายไวกว่า
- สภาพกล้ามเนื้อของผู้ป่วย
ผู้ป่วยแต่ละท่านมีสภาพกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องของความสามารถในการคลายตัว หรือการสลายตัวของพังผืด ในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อที่คลายตัวได้เร็ว และพังผืดสลายตัวได้ง่าย ก็จะเห็นผลการรักษาที่ชัดเจนและไวกว่า
2. การนวดสลายพังผืดมีความเจ็บ
เนื่องจากการนวดสลายพังผืด จะเน้นไปที่การรักษาอาการของผู้ป่วยให้หาย ไม่ได้เน้นเรื่องความผ่อนคลาย ดังนั้น ขณะทำการรักษา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ ซึ่งจะเจ็บมาก หรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการหรือเทคนิคของการนวดแก้อาการในแต่ละแห่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยวิธีการนวดสลายพังผืดนี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยที่พอทนความเจ็บได้บ้าง หากเป็นผู้ที่ทนความเจ็บไม่ได้เลย อาจจะต้องเลือกการรักษาทางอื่นแทน
3. อาจเกิดการระบมหรือรอยฟกช้ำขึ้นหลังจากการนวด
การนวดแก้อาการสลายพังผืดนั้น อาจะทำให้เกิดความระบม หรือมีรอยฟกช้ำขึ้นหลังจากการรักษา โดยส่วนใหญ่แล้วอาการระบมและรอยฟกช้ำ จะเกินระยะเวลาประมาณ 3-10 วัน โดยจะระบมมาก-น้อย หรือ ฟกช้ำ มาก-น้อย แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการนวดรักษาของสถานที่นวดแก้อาการแต่ละแห่ง
4. ค่าใช้จ่ายในการนวดสลายพังผืดจะสูงกว่าการนวดทั่วไป
โดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการสลายพังผืดจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการนวดทั่วไป เนื่องจากผู้ที่จะทำการนวดแก้อาการได้นั้น ไม่ใช่แค่ใครก็ได้ที่นวดแผนไทยเป็น แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านการสลายพังผืดในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และ ข้อต่อ มากกว่าหมอนวดแผนไทยอย่างมาก ซึ่งผู้ที่มีประสบการณ์ และมีความชำนาญในด้านนี้จริงๆ มีจำนวนค่อนข้างน้อย
ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการที่พบในปัจจุบันนั้น มีตั้งแต่ 500.- จนไปถึงหลักหมื่นบาท (xx,xxx) ต่อครั้ง ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลและปัจจัยต่างๆ ของสถานที่นวดแก้อาการแต่ละแห่งว่าที่ใดมีความเชี่ยวชาญ สามารถรักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าต่อผู้ป่วยมากที่สุด
กลับสู่สารบัญคำแนะนำส่งท้าย
อาการปวดข้อมือนั้น สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้งานข้อมือที่มากเกินไป ซึ่งหากรู้ตัวว่ามีการบาดเจ็บบริเวณข้อมือเกิดขึ้น สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการพักการใช้งานข้อมือ เพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบ หรือการบาดเจ็บเพิ่ม และอาจจะประคบอุ่น หรือแช่มือในน้ำอุ่น เพื่อบรรเทาอาการปวด และลดการอักเสบเบื้องต้นก่อนได้ เนื่องจากความร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นคลายตัว เลือดไปเลี้ยงบริเวณข้อมือเพิ่มมากขึ้น จึงช่วยให้การบาดเจ็บ และการอักเสบหายเร็วขึ้นได้
แต่ในกรณีที่ดูแลตนเองเบื้องต้นแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ยังคงมีอาการปวด และอักเสบบริเวณข้อมือมากขึ้น หรือลุกลามไปบริเวณข้างเคียงแล้วนั้น เราควรรีบหาวิธีการรักษาต่อไป เพราะในผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มเป็น ปัญหาจะยังน้อยจึงสามารถรักษาให้หายได้ง่าย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ และไม่ได้รับการรักษาที่ตรงจุด
ก็อาจกลายเป็นปัญหาที่ลุกลาม และเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ การหมั่นบริหารข้อมือ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง และความยืดหยุ่นบริเวณข้อมือได้ เมื่อกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นมีความแข็งแรง และมีความยืดหยุ่นสูงนั้น ก็จะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นบริเวณข้อมือได้ ทำให้บาดเจ็บได้ยากขึ้น