อาการไหล่ติด คืออะไร สามารถ นวดแก้อาการ ให้หายได้ หรือไม่ มาฟังคำแนะนำกัน

อาการไหล่ติด

อาการไหล่ติดนั้น เป็นภาวะที่หัวไหล่เกิดอาการ ปวด ขัด หรือยึดล็อค ซึ่งเป็นปัญหาที่มักเกิดในผู้ป่วยวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ โดยมักจะพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งความรุนแรงของอาการไหล่ติดนั้น มีตั้งแต่ อาการปวดเล็กน้อยเวลายกแขน ไปจนถึงขั้นที่ไม่สามารถยกแขนได้เลย เพราะหัวไหล่ถูกยึดล็อคจนไม่สามารถขยับได้ วันนี้ทางคลินิกจะมาพูดถึงสาเหตุ และวิธีการนวดแก้อาการไหล่ติดอย่างมีประสิทธิภาพกัน

สาเหตุของอาการไหล่ติด

อาการไหล่ติดคือ การที่มีพังผืดไปเกาะยึดบริเวณ เอ็นหัวไหล่ ข้อต่อหัวไหล่ หรือกล้ามเนื้อหัวไหล่ จนทำให้หัวไหล่เกิดอาการปวด ยึด รั้ง ไม่สามารถขยับได้อย่างอิสระ ซึ่งอาการไหล่ติดนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังนี้

  • อุบัติเหตุการโดนกระชาก หรือกระแทกบริเวณหัวไหล่ ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือเป็นเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมานานแล้ว และมีพังผืดค่อยๆ ยึดเกาะหัวไหล่ แต่ผู้ป่วยอาจจะยังไม่รู้ตัว จนเมื่อพังผืดเริ่มเกาะมากขึ้น ผู้ป่วยถึงเริ่มมีอาการ
  • การใช้งานหัวไหล่ที่มากผิดปกติ เช่น การทำงานในท่าที่ต้องเกร็งหัวไหล่อยู่ตลอด หรือการทำงานที่ต้องยกของขึ้นด้านบนเหนือศีรษะอยู่ตลอด
  • การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย เช่น แบดมินตัน เวทเทรนนิ่ง กอล์ฟ
  • การอักเสบที่ลุกลามมาจากอาการบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ต้นคอ บ่า ในผู้ป่วยที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม หรือกระดูกต้นคอเสื่อม

อาการไหล่ติดมีกี่ระยะ

อาการไหล่ติดที่พบได้บ่อย จะแบ่งกว้างๆ ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

อาการไหล่ติดระยะเริ่มต้น

  • ในระยะเริ่มต้นนี้ ผู้ป่วยจะยังยกแขนได้สุด เพียงแต่จะมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่ หรือต้นแขนเวลายก อาการในระยะนี้โดยทั่วไปแล้วสามารถดีขึ้นเองได้ โดยไม่ต้องทำอะไร หรืออาจจะดีขึ้นได้ด้วยวิธีการทานยา การทำกายภาพ หรือการนวด

อาการไหล่ติดระยะกลาง

  • ในระยะนี้ ผู้ป่วยจะยังสามารถยกแขนขึ้นได้ แต่จะยกได้ไม่สุด คือจะไม่สามารถยกแนบหู หรือไม่สามารถยกให้อยู่ในระนาบเดียวกับใบหูได้ เพราะจะรู้สึกตึง รั้ง ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวด หรือไม่ก็ได้ และในบางรายอาจเริ่มมีอาการหัวไหล่หรือแขนอ่อนแรงร่วมด้วย
  • สาเหตุของอาการไหล่ติดระยะกลางนี้ มักจะเริ่มต้นจากการเป็นไหล่ติดระยะเริ่มต้นก่อน โดยอาจจะมีการปวดไหล่เป็นๆ หายๆ มาตลอด แต่ผู้ป่วยอาจจะไม่ได้รับการรักษาอย่างตรงจุด จึงทำให้เริ่มมีพังผืดไปยึดเกาะบริเวณหัวไหล่มากขึ้น
  • ในระยะนี้ การเคลื่อนไหวของหัวไหล่จะเริ่มไม่ดีดังเดิม ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้หัวไหล่ เช่น เกิดอาการติดขัด หรือมีเสียงดังเวลาขยับ เนื่องจากพังผืดเริ่มเกาะลุกลามมากขึ้น

อาการไหล่ติดระยะสุดท้าย

  • อาการไหล่ติดในระยะนี้ ผู้ป่วยจะยกแขนได้น้อยมาก สังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถยกแขนโดยให้ข้อศอกพ้นใบหูได้ และทุกครั้งที่พยายามยกแขน ลำตัวด้านนั้นจะยกตามขึ้นด้วย เนื่องจาก ผุ้ป่วยไม่สามารถใช้หัวไหล่ในการยกแขนได้ เพราะพังผืดได้เข้าไปยึดเกาะจนล็อคหัวไหล่ ไม่สามารถขยับหัวไหล่ได้ ดังนั้นเวลายกแขน ผู้ป่วยจะต้องใช้กล้ามเนื้อลำตัวในส่วนอื่นๆ ช่วยยกแทน
  • อาการในระยะนี้ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกปวด หรือไม่ก็ได้ แต่การใช้งานหัวไหล่จะเป็นไปอย่างจำกัด ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำท่าในบางอิริยาบถได้อย่างชัดเจน เช่น การชูแขนตรง เป็นต้น เนื่องจากข้อหัวไหล่ไม่สามารถหมุนได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหัวไหล่ลีบ แขนลีบ หรือแขนอ่อนแรงร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะนี้ ส่วนใหญ่แล้วคือผู้ป่วยที่มีปัญหาหัวไหล่เรื้อรังมานาน โดยอาจจะไม่รู้ตัว หรืออาจจะเคยเป็นๆ หายๆ มาก่อนแต่ไม่ได้รับการรักษาที่ตรงจุด อาจจะรักษาด้วยการทานยาแก้ปวดแทน ซึ่งเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ หรืออาจจะเคยประสบอุบัติเหตุในอดีตแล้วปล่อยไว้ ไม่ได้รักษาให้หาย จึงทำให้พังผืดพอกพูนขึ้นจนกลายเป็นปัญหาใหญ่
กลับสู่สารบัญ

วิธีการนวดแก้อาการไหล่ติดที่มีประสิทธิภาพ

อาการไหล่ติดสามารถรักษาได้ด้วยการนวด แต่จะต้องเป็นการนวดที่เน้นการสลายพังผืดเป็นหลัก เนื่องจากพังผืดคือสาเหตุหลักที่ทำให้หัวไหล่ยึดล็อค โดยการนวดที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้ที่ทำการรักษาจะต้องวินิจฉัยก่อนว่า พังผืดที่เกาะยึดหัวไหล่นั้น เป็นพังผืดที่เกาะอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง อยู่ในเอ็นชุดไหน เกาะอยู่ที่กล้ามเนื้อ หรือข้อต่อบริเวณใด

การนวดสลายพังผืดออกนั้น จะเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาไหล่ติดได้อย่างตรงจุด และเป็นการแก้ไขอย่างถาวร เพราะเมื่อพังผืดถูกสลายออกไป กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ จะกลับมาเคลื่อนไหวได้เต็มที่ดังเดิม อาการล็อค หดเกร็ง ยึดรั้งต่างๆ จะหมดไป เลือดจะสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ได้เป็นปกติอีกครั้ง อาการปวด อ่อนแรง จะหายไป และไม่กลับมาเป็นซ้ำๆ อีกในอนาคต

กลับสู่สารบัญ

การนวดแก้อาการไหล่ติดในแต่ละระยะ

การนวดแก้อาการไหล่ติดในระยะเริ่มต้น

ในระยะนี้ การรักษาจะทำค่อนข้างง่าย และได้ผลเร็ว เนื่องจากจะยังมีพังผืดเกาะอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นหากผู้ป่วยนวดสลายพังผืดตั้งแต่ในระยะนี้ ผลการรักษาจะดีขึ้นทันที และยังเป็นการป้องกันไม่ให้อาการลุกลามเข้าสู่ระยะถัดๆ ไปในอนาคต การรักษาในระยะนี้จะเน้นการสลายพังผืดและจุดยึดเกร็งในบริเวณ 3 จุดหลักๆ ดังนี้

การนวดแก้อาการไหล่ติดในระยะเริ่มต้น
  • บริเวณ Deltoid ซึ่งเป็นมัดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ซึ่งจะประกอบไปด้วย ส่วนหน้า ส่วนกลางและส่วนหลัง
  • บริเวณ Supraspinatus ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณสะบักถึงข้อหัวไหล่
  • บริเวณ Infraspinatus ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณกระดูกสะบักถึงกระดูกต้นแขน

การนวดแก้อาการไหล่ติดระยะกลาง

ในระยะนี้พังผืดจะเริ่มกระจายตัวไปยึดบริเวณต่างๆ มากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มไม่สามารถยกแขนให้อยู่ในระนาบเดียวกับหูได้ การรักษาจะเน้นการสลายพังผืดและจุดยึดเกร็งในบริเวณ 6-7 จุดหลักๆ ดังนี้

การนวดแก้อาการไหล่ติดระยะกลาง
  • บริเวณ Deltoid ซึ่งเป็นมัดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ซึ่งจะประกอบไปด้วย ส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง
  • บริเวณ Supraspinatus ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณสะบักถึงข้อหัวไหล่
  • บริเวณ Infraspinatus ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณกระดูกสะบักถึงกระดูกต้นแขน
  • บริเวณ Teres major เป็นกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก
  • บริเวณ Teres minor เป็นกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก
  • บริเวณ Brachialis เป็นกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บของเอ็นหัวไหล่ จะมีการรักษาเพิ่มในบริเวณเอ็น Glenohumeral ซึ่งจะมี 3 ส่วนคือ ส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง

การนวดแก้อาการไหล่ติดระยะสุดท้าย

ในระยะนี้พังผืดจะเริ่มเกาะยึดกระจายไปในหลายๆ จุด ซึ่งผู้ป่วยจะเกิดอาการตึงรั้งเป็นอย่างมาก ไม่สามารถยกแขนได้สุดแบบเห็นได้ชัด อาการไหล่ติดในระยะนี้ จะต้องนวดรักษาหลายครั้งกว่าจะสลายพังผืดตามจุดต่างๆ ออกได้จนหมด ซึ่งจะกินระยะเวลานานหลายเดือน ดังนั้นหากผู้ป่วยต้องการผลลัพธ์ที่เร็วกว่านี้ อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดแทน

การนวดแก้อาการไหล่ติดในระยะสุดท้าย

การนวดรักษาอาการไหล่ติดระยะสุดท้ายนี้ จะเน้นการสลายพังผืด และจุดยึดเกร็งในบริเวณ 13 จุดหลักๆ ดังนี้

  • บริเวณ Deltoid ซึ่งเป็นมัดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ซึ่งจะประกอบไปด้วย ส่วนหน้า ส่วนกลางและส่วนหลัง
  • บริเวณ Supraspinatus ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณสะบักถึงข้อหัวไหล่
  • บริเวณ Infraspinatus ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณกระดูกสะบักถึงกระดูกต้นแขน
  • บริเวณ Teres major ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก
  • บริเวณ Teres minor ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก
  • บริเวณ Brachialis ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน
  • บริเวณ Triceps brachii ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหลัง
  • บริเวณ Biceps brachii ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้า

ในผู้ป่วยที่มีปัญหาบริเวณเอ็นหัวไหล่ร่วมด้วย จะมีการรักษาเพิ่มเติมในบริเวณยึดข้อต่อหัวไหล่ดังนี้

  • เอ็น Glenohumeral
  • เอ็น Coracoacromial
  • เอ็น Coracohumeral
  • เอ็น Trapezoid
  • เอ็น Acromioclavicular
กลับสู่สารบัญ

ข้อพึงระวังในการรักษาด้วยวิธีนวดแก้อาการไหล่ติด

ก่อนจะตัดสินใจรักษาอาการไหล่ติดด้วยวิธีการนวดแก้อาการนั้น ผู้ป่วยควรพิจารณาสิ่งเหล่านี้ประกอบ

1. การนวดแก้อาการด้วยวิธีนี้ ถึงแม้ว่าจะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายอย่างถาวรได้ก็จริง แต่อาจไม่ได้หายภายในครั้งเดียว

ถ้าในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการในระยะเริ่มต้น การนวดแก้อาการด้วยผู้ที่ชำนาญ อาจจะทำให้ดีขึ้นได้เลยภายในครั้งเดียว แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการในระยะอื่นๆ อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษา ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้อาการหายช้าหรือเร็วนั้นจะขึ้นอยู่กับ

  • ความเชี่ยวชาญของผู้นวดแก้อาการ

ผู้รักษาที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษา เมื่อตรวจอาการแล้วจะรู้ทันทีว่าต้นเหตุของอาการอยู่ที่ใด และต้องแก้ที่ตำแหน่งใด ซึ่งจะแตกต่างผู้รักษาที่ไม่มีความชำนาญโดยสิ้นเชิง เพราะผู้ที่ไม่มีความรู้ ความชำนาญ จะไม่สามารถแยกได้ว่ากล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อต่อที่มีความผิดปกตินั้น ผิดปกติเพราะอะไร และควรต้องแก้ไขอย่างไร

การรักษาโดยผู้ที่ชำนาญการ จะให้ผลการรักษาที่รวดเร็ว แม่นยำ และตรงจุด จนผู้ป่วยรู้สึกได้เองถึงความแตกต่าง

  • ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการสะสมมา

ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง หรือ มีอาการเป็นๆ หายๆ มานาน หรือเคยใช้งานกล้ามเนื้อหัวไหล่มานาน ย่อมต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่าผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการ เนื่องจากในผู้ป่วยที่มีอาการมานาน พังผืดจะเกาะแทรก และลุกลามไปในชั้นกล้ามเนื้อในหลายๆ จุด และในบางเคส พังผืดได้ลุกลามไปยึดเกาะตามข้อต่อหัวไหล่ จนหัวไหล่เกิดการยึดล็อค ดังนั้นจะต้องรักษาหลายครั้งกว่าจะสลายพังผืดออกจนหมด

ในขณะที่ผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการไม่นานนั้น จะมีพังผืดยึดเกาะเพียงเล็กน้อย และจะเกาะอยู่เพียงกล้ามเนื้อชั้นบนๆ ไม่ได้เกาะฝังลงลึก หรือเกาะลุกลามไปที่ต่างๆ เหมือนผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง ดังนั้น จึงใช้เวลารักษาน้อยกว่า ได้ผลที่ชัดเจนกว่า และหายไวกว่า

  • สภาพกล้ามเนื้อของผู้ป่วย

ผู้ป่วยแต่ละท่านมีสภาพกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องของความสามารถในการคลายตัว หรือในเรื่องความหนืดแข็งของพังผืด ผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อที่คลายตัวได้เร็ว หรือมีพังผืดนิ่มจะเห็นผลการรักษาที่ชัดเจนและไวกว่าผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อที่คลายตัวช้า หรือมีพังผืดหนืดแข็ง

2. การนวดแก้อาการ มีความเจ็บ

เนื่องจากการนวดแก้อาการ จะเน้นไปที่การรักษาอาการของผู้ป่วยให้ทุเลา ไม่ได้เน้นเรื่องความผ่อนคลาย ดังนั้น ขณะทำการรักษา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ ซึ่งจะเจ็บมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับวิธีการ หรือเทคนิคของการนวดแก้อาการในแต่ละแห่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยวิธีการนวดแก้อาการนี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยที่พอทนความเจ็บได้บ้าง หากเป็นผู้ที่ทนความเจ็บไม่ได้เลย อาจจะต้องเลือกการรักษาทางอื่นแทน

3. อาจเกิดการระบม หรือรอยฟกช้ำขึ้นหลังจากการนวด

การนวดแก้อาการนั้น อาจะทำให้เกิดความระบม หรือมีรอยฟกช้ำขึ้นหลังจากการรักษา โดยส่วนใหญ่แล้วอาการระบม และรอยฟกช้ำ จะเกินระยะเวลาประมาณ 3-10 วัน โดยจะระบมมาก-น้อย หรือฟกช้ำ มาก-น้อย แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการนวดรักษาของสถานที่นวดแก้อาการแต่ละแห่ง

4. ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการจะสูงกว่าการนวดทั่วไป

โดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการนวดทั่วไป เนื่องจากผู้ที่จะทำการนวดแก้อาการได้นั้น ไม่ใช่แค่ใครก็ได้ที่นวดแผนไทยเป็น แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านการสลายพังผืดในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ มากกกว่าหมอนวดแผนไทยอย่างมาก ซึ่งผู้ที่มีประสบการณ์ และมีความชำนาญในด้านนี้จริงๆ มีจำนวนค่อนข้างน้อย

ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการที่พบในปัจจุบันนั้น โดยปกติจะเริ่มจาก 500.- และสามารถสูงได้ถึงหลักหมื่นบาท (xx,xxx) ต่อครั้ง ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลและปัจจัยต่างๆ ของสถานที่นวดแก้อาการแต่ละแห่งว่าที่ใดมีความเชี่ยวชาญ สามารถรักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าต่อผู้ป่วยมากที่สุด

กลับสู่สารบัญ

สรุป การนวดแก้อาการไหล่ติด

อาการไหล่ติด ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่อาการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ไม่ควรละเลย เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน อาการจะยิ่งมากขึ้นจนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต ดังนั้นหากรู้สึกว่าเริ่มมีอาการไหล่ติด ควรรีบรักษาให้หายตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจจะต้องถึงขั้นผ่าตัดในอนาคต