อาการปวดขา เป็นอาการที่พบได้บ่อยในหลายช่วงอายุ โดยอาการปวดอาจเป็นการปวดทั้งขาตั้งแต่ต้นขาจนถึงปลายเท้า หรืออาจปวดเฉพาะจุดเพียงบางส่วนของขาเท่านั้น เช่น ปวดต้นขา ปวดน่อง ปวดหน้าแข้ง เป็นต้น สาเหตุของอาการปวดขานั้นมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้งานขามาก ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน หรือวิ่งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ อาการปวดขาบางประเภทอาจมีสาเหตุมาจากอาการผิดปกติบริเวณหลัง หรือสะโพก ดังนั้นเราจึงควรรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดขา เส้นตึงก่อนที่จะทำการรักษา เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงอาการปวดขา เส้นตึง ว่ามาจากสาเหตุใดบ้าง หรือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคใด รวมถึงวิธีการรักษาที่ช่วยให้อาการดีขึ้นได้ โดยไม่กลับมาปวดซ้ำอีกในอนาคต
สารบัญ
1. อาการปวดขา เส้นตึง ที่พบได้บ่อย
2. สาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดขา เส้นตึง
3. พฤติกรรมที่ส่งผลให้มีอาการปวดขา เส้นตึง
4. วิธีการรักษาอาการปวดขา เส้นตึงอย่างมีประสิทธิภาพ
- ปวดขาร่วมกับอาการปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขา หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- ปวดขา ปวดน่อง และมีอาการปวดก้นร่วมด้วย หรืออาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis)
- ปวดขาร่วมกับอาการปวดเข่าร่วมด้วย
- ปวดขาร่วมกับอาการปวดส้นเท้า และเอ็นร้อยหวาย
อาการปวดขา เส้นตึง ที่พบได้บ่อย
อาการปวดขา เส้นตึง เพียงอย่างเดียว
อาการปวดขา หรืออาการตึง เมื่อย บริเวณขา อาจเกิดขึ้นได้ในบริเวณของต้นขา ได้แก่ ต้นขาด้านหลัง ด้านหน้า ด้านข้าง หรือบริเวณขาท่อนล่าง เช่น น่อง หน้าแข้ง ซึ่งตำแหน่งของอาการปวดนั้น จะบ่งบอกถึงสาเหตุของอาการที่ต่างกัน โดยบางท่านอาจปวดเฉพาะจุด หรือบางท่านอาจะปวดหลายจุดร่วมกัน โดยกล้ามเนื้อบริเวณขาที่มักสัมพันธ์กับอาการปวดขาจะมีดังต่อไปนี้
จะเห็นได้ว่ากล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณขานั้น มีหลายมัดกล้ามเนื้อ ตั้งแต่ชั้นตื้นไปจนถึงชั้นลึก ฉะนั้นหากกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นชุดใดที่มีปัญหา ผู้ป่วยก็จะมีอาการปวด เมื่อย ตึง ในบริเวณนั้นๆ นอกจากนี้ เรายังมักพบอาการปวดขาร่วมกับอาการปวดบริเวณอื่นๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคต่างๆ ได้ โดยสามารถแบ่งอาการปวดขาร่วมกับอาการปวดบริเวณอื่นได้ดังนี้
อาการปวดขาร่วมกับอาการปวดบริเวณอื่นๆ
1. ปวดขาร่วมกับอาการปวดสะโพก
โรคที่พบได้บ่อยคือ กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือกล้ามเนื้อก้นหนีบเส้นประสาท (Piriformis) โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดก้นลึกๆ ใกล้กับสะโพก หรือบริเวณสลักเพชร ร่วมกับการปวดลงต้นขาด้านหลัง (Hamstring) และอาจปวดไปถึงข้อพับเข่า น่อง ถึงส้นเท้า อาจมีอาการชาก้น หรือต้นขาด้านหลังร่วมด้วย
2. ปวดขาร่วมกับอาการปวดหลัง
โรคที่พบได้บ่อยคือ หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังล่าง ปวดร้าวลงขาบริเวณข้างหน้าแข้ง และอาจปวดถึงข้อเท้า อาจมีอาการชาบริเวณหน้าแข้ง และปลายเท้า หรือมีอาการขาอ่อนแรงร่วมด้วย
3. ปวดขาร่วมกับอาการปวดเข่า
โรคที่พบได้บ่อย เอ็นเข่าอักเสบ และ ITB โดยอาการจะแตกต่างกันดังนี้
- เอ็นเข่าอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่า โดยอาจปวดเพียงด้านใดด้านหนึ่งของข้อเข่า หรือปวดรอบๆ ข้อเข่าก็ได้ โดยอาการที่พบได้บ่อยคือปวดใต้พับเข่า ปวดร้าวลงน่อง และมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น งอพับเข่า-เหยียดเข่าไม่สุด เดินขึ้น-ลงบันไดจะปวดมากขึ้น หรือนั่งยอง/ขัดสมาธิ/พับเพียบลำบาก
- ITBS (Iliotibial band syndrome) มีอาการปวดเข่าด้านนอก ปวดร้าวขึ้นต้นขาด้านนอก จนถึงก้น สะโพก มักพบอาการนี้ในนักวิ่ง
4. ปวดขาร่วมกับอาการปวดส้นเท้า และเอ็นร้อยหวาย
โรคที่พบได้บ่อยคือ รองช้ำ และเอ็นร้อยหวายอักเสบ ซึ่งมักเป็นอาการที่สัมพันธ์กันคือ ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการปวดส้นเท้า หรือฝ่าเท้าก่อน แล้วเริ่มปวดขึ้นเอ็นร้อยหวาย และปวดลามขึ้นน่อง หรืออาจจะมีอาการปวดที่น่องก่อน แล้วค่อยๆ ลุกลามไปจนถึงใต้ฝ่าเท้า
กลับสู่สารบัญสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดขา เส้นตึง
อาการปวดขา เส้นตึง นั้นมักเกิดจากสาเหตุหลักๆ ดังนี้
1. กล้ามเนื้อที่เกิดการเกร็งตัว
เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณขาส่วนใดส่วนหนึ่ง ถูกใช้งานอย่างหนักจนเกิดการเกร็งตัว กล้ามเนื้อจะกลายเป็นก้อนปม ที่เรียกว่า trigger point ปม trigger point นี้ จะไปขัดขวางทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก สารอาหาร และออกซิเจน จึงไม่สามารถถูกส่งไปเลี้ยงกล้าเนื้อบริเวณนั้นๆ ได้เต็มที่ ส่งผลให้เกิดอาการปวด ตึง เมื่อยขึ้น และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี กล้ามเนื้อจะเกร็งตัวลุกลามไปยังกล้ามเนื้อมัดอื่นๆ ทำให้เกิดปม trigger point จำนวนมากขึ้น และกระจายไปหลายตำแหน่ง ส่งผลให้เกิดอาการปวด เมื่อย ตึง ในบริเวณกว้างขึ้นเรื่อยๆ
2. พังผืด
เมื่อเกิดบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณ ข้อต่อ กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นก็ตาม ร่างกายจะซ่อมแซมด้วยการสร้างพังผืดเข้ามายึดเกาะ เพื่อสมานแผลบริเวณที่บาดเจ็บนั้น แต่พังผืดที่เข้ามายึดเกาะนี้ จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ มีปัญหาแข็ง เกร็งตามมา กล่าวคือ หากพังผืดได้เข้าเกาะคลุมบริเวณข้อต่อ เช่น หมอนรองกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อเข่า จะส่งผลให้ข้อต่อเหล่านั้น เกิดอาการแข็ง ติดขัด และอาจดึงรั้งให้ข้อต่อเคลื่อนที่ผิดตำแหน่ง หรือผิดรูป เกิดการเคลื่อนที่กดทับเส้นประสาท และทำให้มีการ ปวดลงขาได้ พังผืดที่ทำให้เกิดปัญหาข้อต่อ มักพบในบริเวณดังต่อไปนี้
- ข้อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลัง
เป็นบริเวณที่มักเกิดการบาดเจ็บและที่พังผืดไปเกาะ ส่งผลให้มีอาการปวดหลังร้าวลงขา โดยบริเวณที่พบบ่อยมักเป็นกระดูกสันหลังข้อ Lumbar (L1-L5) และ Sacrum (S1-S5) เนื่องจากเป็นบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย และเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของขาหลายชุด หากพังผืดได้เข้าไปยึดเกาะดึงรั้งจนข้อต่อ หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปทับเส้นประสาทบริเวณรอบข้าง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา หรืออาจปวดขา ชาขา เป็นต้น
- ข้อเข่า
ข้อเข่ามักสัมพันธ์กับอาการปวดน่อง ปวดลงขาท่อนล่าง โดยเมื่อเกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า พังผืดจะเข้าไปยึดเกาะ ทำให้ข้อต่อ และเส้นเอ็นภายในข้อเข่า เกิดการยึดติด ทำให้เมื่อเวลาเคลื่อนไหวข้อเข่าแล้ว จะมีการดึงรั้งไปที่กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณข้างเคียง อาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง หน้าแข้ง หรือต้นขาร่วมด้วย
หากพังผืดเข้าไปยึดเกาะบริเวณกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นบริเวณขา จะทำให้กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นบริเวณขานั้นเกิดความแข็งตัว เกร็ง ไม่ยืดหยุ่น ส่งผลเกิดอาการปวด ตึง เมื่อยขา และถ้าพังผืดนั้นได้ลุกลามเข้าไปเกาะในเส้นประสาท จะทำให้เส้นประสาททำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะเกิดอาการ ขาชา แสบร้อน อ่อนแรง หรืออาการไฟช็อตขึ้น
จะเห็นได้ว่า สาเหตุของอาการปวดขา เส้นตึง ที่เกิดขึ้นนั้น ถึงแม้ว่าจะเกิดในตำแน่งที่แตกต่างกันออกไป แต่สาเหตุหลักนั้นล้วนเกิดจาก ปม trigger point และพังผืดทั้งสิ้น ดังนั้นการรักษาที่ตรงจุด และทำให้ได้ผลที่ถาวรนั้น จะต้องเน้นไปที่การกำจัด ปม trigger point และพังผืดออก เพื่อให้เลือดสามารถนำพาสารอาหาร และออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้ตามปกติ กลับมามีความยืดหยุ่นดังเดิม อาการปวด ตึง ก็จะหายไปอย่างถาวร
กลับสู่สารบัญพฤติกรรมที่ส่งผลให้มีอาการปวดขา เส้นตึง
- การยืนนาน จะทำให้กล้ามเนื้อขาเกร็ง และเกิดอาการล้าจากการใช้งานเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีอาการปวดขา เส้นขาตึงเกิดขึ้น
- การเดินระยะไกล เป็นการใช้งานกล้ามเนื้อขาซ้ำๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดความอ่อนล้า และสามารถเกิดเป็นอาการปวดขาตามมา
- การนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อก้นถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง และสามารถเกิดเป็น ภาวะกล้ามเนื้อก้นหนีบเส้นประสาท (Piriformis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดก้น ปวดต้นขาด้านหลัง ข้อพับเข่า และอาจมีอาการปวดน่องร่วมด้วย
- การยกของหนัก ยกของผิดจังหวะ อาจทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ปวดหน้าแข้ง ขาชา หรือในบางเคส อาจมีอาการปวดขาเพียงอย่างเดียว
- การออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การสคอวช เป็นการใช้งานมัดกล้ามเนื้อขาโดยตรง โดยเฉพาะในผู้ที่วิ่งเป็นประจำ อาจมีอาการ ITBs หรือ IT band ซึ่งเป็นอาการปวดต้นขาด้านนอก ไล่ลงไปถึงหัวเข่าด้านนอก
วิธีการรักษาอาการปวดขา เส้นตึงอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นของบทความแล้วว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอาการปวดขา เส้นตึงนั้น คือ ปม trigger point และ พังผืด ที่เกาะอยู่ตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ ที่ขัดขวางไม่ให้เลือดสามารถนำพาออกซิเจน และสารอาหารไปหล่อเลี้ยงได้ตามปกติ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อบริเวณนั้น จึงเกิดอาการแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น ยึดล็อค และดึงรั้งกับเนื้อเยื้อบริเวณรอบข้าง ส่งผลให้เกิดอาการ ปวด เมื่อย ตึงขาขึ้น
ดังนั้นการรักษาที่ตรงจุดที่ให้ผลรวดเร็ว และถาวรจะต้องเป็นการรักษาที่สามารถกำจัดปม trigger point และพังผืดออกจนหมด เพื่อให้ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ นั้น กลับมามีสุขภาพที่ดีดังเดิม อาการปวดขา เส้นตึงก็จะหายไปอย่างถาวร และไม่กลับมาเป็นซ้ำๆ อีก
ซึ่งการรักษาที่สามารถกำจัดปม trigger point และพังผืด ออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือการนวดสลาย trigger point และพังผืด นั่นเอง
ซึ่งตำแหน่งในการนวดรักษาจะแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการของผู้ป่วย ดังนี้
ปวดขาร่วมกับอาการปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขา หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
การนวดรักษาอาการปวดขาโดยมีอาการปวดหลังร่วมด้วย หรืออาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น จะนวดตามจุดที่มักพบปัญหาได้แก่
- กล้ามเนื้อบริเวณข้อกระดูกสันหลัง ช่วงข้อ L4-L5-S1 ในบริเวณหลังส่วนล่าง
- กล้ามเนื้อ Gluteus medius เป็นกล้ามเนื้อบริเวณก้นชั้นกลาง
- กล้ามเนื้อ Piriformis เป็นกล้ามเนื้อก้น สะโพก ชั้นลึก หรือมักเรียกว่า จุดสลักเพชร
- กล้ามเนื้อ Hamstring เป็นกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหลัง ที่ประกอบด้วยมัดกล้ามเนื้อ 3 มัดรวมกัน
- กล้ามเนื้อ Vastus lateralis เป็นกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านนอก
- กล้ามเนื้อ Extensor digitorum longus of foot เป็นกล้ามเนื้อบริเวณหน้าแข้งด้านนอก
- กล้ามเนื้อ Gastrocnemius หรือกล้ามเนื้อน่อง
ปวดขา ปวดน่อง และมีอาการปวดก้นร่วมด้วย หรืออาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis)
การนวดรักษาอาการปวดขา ปวดน่อง หรือมีอาการปวดก้นร่วมด้วย หรือที่เรียกว่าอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทนั้น จะนวดตามจุดที่มักพบปัญหาได้แก่
- กล้ามเนื้อบริเวณข้อกระดูกสันหลัง ช่วงข้อ L5-S1 ในบริเวณหลังส่วนล่างต่อกับก้นกบ
- กล้ามเนื้อ Gluteus maximus เป็นกล้ามเนื้อก้นชั้นบนสุด
- กล้ามเนื้อ Gluteus medius เป็นกล้ามเนื้อบริเวณก้นชั้นกลาง
- กล้ามเนื้อ Piriformis เป็นกล้ามเนื้อก้น สะโพก ชั้นลึก หรือมักเรียกว่า จุดสลักเพชร
- กล้ามเนื้อ Hamstring เป็นกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหลัง ที่ประกอบด้วยมัดกล้ามเนื้อ 3 มัดรวมกัน
- กล้ามเนื้อ Gastrocnemius หรือกล้ามเนื้อน่อง
ปวดขาร่วมกับอาการปวดเข่าร่วมด้วย
โดยจะแบ่งออกเป็น
1. ปวดขา ปวดน่อง ร่วมกับการปวดใต้พับเข่า
สำหรับการนวดรักษาอาการปวดบริเวณใต้พับเข่าร้าวลงน่องนั้น จะเน้นการนวดบริเวณดังต่อไปนี้
- Posterior cruciate ligament หรือเอ็นไขว้หลัง
- Medial collateral ligament หรือเอ็นเข่าด้านใน
- Lateral collateral ligament หรือเอ็นเข่าด้านนอก
- Gastrocnemius หรือกล้ามเนื้อน่อง
- Soleus เป็นกล้ามเนื้อบริเวณน่องชั้นลึก
2. ปวดต้นขาด้านนอก ไปถึงหัวเข่าด้านนอก หรืออาการ ITBs
อาการปวดบริเวณเข่า ปวดต้นขาด้านนอก และอาจมีอาการปวดก้นร่วมด้วยนี้ จุดที่ต้องทำการนวดรักษามีดังต่อไปนี้
- กล้ามเนื้อ Gluteus maximus เป็นกล้ามเนื้อก้นชั้นบนสุด
- กล้ามเนื้อ Gluteus medius เป็นกล้ามเนื้อบริเวณก้นชั้นกลาง
- กล้ามเนื้อพิเศษ Iliotibial band ในบริเวณต้นขาด้านนอกตั้งแต่เข่า-ก้น
- กล้ามเนื้อ Hamstring เป็นกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหลัง ที่ประกอบด้วยมัดกล้ามเนื้อ 3 มัดรวมกัน
- Anterior cruciate ligament หรือเอ็นไขว้หน้า
- Posterior cruciate ligament หรือเอ็นไขว้หลัง
ปวดขาร่วมกับอาการปวดส้นเท้า และเอ็นร้อยหวาย
จุดที่มีปัญหาของอาการปวดน่อง และปวดส้นเท้านั้น มักได้แก่
- Posterior cruciate ligament หรือเอ็นไขว้หลัง
- กล้ามเนื้อ Gastrocnemius หรือกล้ามเนื้อน่อง
- กล้ามเนื้อ Soleus เป็นกล้ามเนื้อบริเวณน่องชั้นลึก
- Achilles tendon หรือเอ็นร้อยหวาย
- Plantar fascia หรือพังผืดบริเวณฝ่าเท้า
ข้อควรรู้ก่อนการนวดสลาย trigger point และพังผืด
ก่อนตัดสินใจรักษาอาการปวดขา เส้นตึง ด้วยการนวดแก้อาการสลาย trigger point และพังผืดนั้น ผู้ป่วยควรทำการศึกษาและทำความเข้าใจกับวิธีการรักษา พร้อมทั้งรับทราบถึงข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพต่อผู้ป่วยมากที่สุด โดยผู้ป่วยสามารถ คลิกอ่านได้ที่นี่
กลับสู่สารบัญบทส่งท้าย
อาการปวดขา เส้นตึง มีหลายสาเหตุแตกต่างกันไป ส่วนมากมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้งานขาที่มากเกินไป หรืออาจสัมพันธ์กับอาการที่เกิดจากหลัง สะโพก เข่า ข้อเท้า ฉะนั้นการรักษาเพื่อให้อาการปวดขา เส้นตึง ดีขึ้น หรือหายได้นั้น ต้องรักษาให้ตรงจุด โดยต้องวินิจฉัยโรค หรือหาจุดที่เป็นปัญหาหลักให้พบ การรักษาจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะฉะนั้นเมื่อมีอาการปวดขาเกิดขึ้น ควรสังเกตุอาการตนเองว่ามีอาการปวด หรือมีความผิดปกติบริเวณอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น
อย่างไรก็ตามหากเริ่มมีอาการปวดขา เส้นตึง แนะนำให้รีบหาสาเหตุ และหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม อย่าปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นอาการที่รุนแรงขึ้นในอนาคต เพราะจะเห็นได้ว่าอาการปวดขา อาจไม่ใช่เพียงอาการปวดกล้ามเนื้อธรรมดาเท่านั้น แต่อาจเป็นอาการของโรคอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้นได้เช่นกัน