หากพูดถึงอาการออฟฟิศซินโดรม หลายท่านคงรู้จัก หรือเคยได้ยินกันอย่างแน่นอน เนื่องจากในปัจจุบันอาการออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการที่พบได้บ่อย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยพบมากในกลุ่มวัยรุ่น และวัยกลางคน จากพฤติกรรมการนั่งทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิดสุขลักษณะ
ในบทความนี้เราจะพูดถึงอาการ และสาเหตุของออฟฟิศซินโดรม เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรมมากขึ้น รวมถึงการรักษาออฟฟิศซินโดรม ที่มีประสิทธิภาพที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เพื่อหายจากอาการปวดเมื่อยในระยะยาว
สารบัญ
3. ทำไมรักษาออฟฟิศซินโดรมมานาน แต่ไม่หายสักที
4. วิธีรักษาออฟฟิศซินโดรมที่มีประสิทธิภาพ และให้ผลอย่างถาวร
- อาการปวดตึงคอ บ่า ไหล่ สะบัก และบ่าแข็งเป็นก้อน
- อาการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก และมีอาการไมเกรน ปวดขมับ ปวดขึ้นศีรษะร่วมด้วย
- อาการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก และมีอาการชามือร่วมด้วย
- อาการปวดคอ บ่า สะบัก และปวดตึงลงหลังร่วมด้วย
5. ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยการนวดสลาย Trigger point และ พังผืด
ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร
ออฟฟิศซินโดรมเป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ จากพฤติกรรมการทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน จนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก เกิดการเกร็งตัวและมีอาการปวดเกิดขึ้น โดยอาการออฟฟิศซินโดรมมักพบในกลุ่มพนักงานออฟฟิศเป็นหลัก จึงได้มีชื่อเรียกของกลุ่มอาการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบักนี้ว่าอาการ “ออฟฟิศซินโดรม” ค่ะ
แต่จริงๆ แล้ว อาการออฟฟิศซินโดรมไม่ได้เป็นกลุ่มโรคที่เฉพาะเจาะจงในพนักงานออฟฟิศที่ทำงานหน้าคอมเท่านั้น ออฟฟิศซินโดรมสามารถพบได้ในทุกอาชีพที่มีการใช้กล้ามเนื้อ คอบ่าไหล่ ซ้ำๆ นานๆ เช่น ช่างไฟ, นักวาดรูป, นักดนตรีที่ต้องสะพายเครื่องดนตรีหนักๆ, ช่างสัก ช่างทำผม เป็นต้น เนื่องจากลักษณะงานจะมีการเกร็งกล้ามเนื้อ และใช้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ แขนอยู่ตลอดเวลา
และนอกจากพฤติกรรมการใช้งานเป็นเวลานานๆ แล้ว การอยู่ในท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะอย่างต่อเนื่องก็สามารถทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน เช่น การเล่นโทรศัพท์มือถือในท่านอน การคุยโทรศัพท์แบบหูแนบไล่ การหนุนหมอนที่สูงเกินไป จนทำให้กล้ามเนื้อต้นคอเกร็ง ล้า เป็นต้น
อาการของออฟฟิศซินโดรม มีอะไรบ้าง
ผู้ป่วยที่มีภาวะออฟฟิศซินโดรมมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการปวด ตึง กล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ สะบัก ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทุกส่วน
- บ่าแข็งเป็นก้อน
- หากผู้ป่วยมีอาการเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อ Iliocostalis thoracis และ Longissimus thoracis อาจมีอาการปวดลามไปที่ กลางหลัง หลังล่าง ร่วมด้วย
- หากผู้ป่วยมีอาการเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อ Semispinalis capitis, Splenius capitis, Scalene อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ ขมับ หรือปวดไมเกรนร่วมด้วยได้
- ในเคสที่เส้นประสาทถูกรบกวนร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการชาแขน ชานิ้ว หรือหากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานก็จะมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วยได้
สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม
สาเหตุของอาการออฟฟิศซินโดรมนั้น เกิดจาก
- การทำงานอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยไม่ขยับ หรือไม่ปรับเปลี่ยนท่าทาง จนทำให้กล้ามเนื้อเกิดการยึดล็อก แข็ง และหดเกร็งขึ้น
- การอยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้องซ้ำๆ นานๆ เช่น การนั่งหลังงอ การก้มหรือเงยคอมากเกินไป การนอนคว่ำ หรือนอนหงายขณะใช้โทรศัพท์มือถือ การทำงานบนโต๊ะ หรือเก้าอี้ที่มีความสูงไม่ได้มาตรฐาน จนส่งผลให้กล้ามเนื้อถูกใช้งานผิดลักษณะ เกิดการเกร็งตัวเรื้อรัง และเกิดการบาดเจ็บในกล้ามเนื้อ
เมื่อกล้ามเนื้อถูกใช้งานซ้ำๆ จนเกิดการเกร็งตัวขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะแข็งจนเป็นก้อน เรียกว่าก้อน Trigger point
เมื่อมี Trigger point มากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะแข็ง หดเกร็ง และขาดความยืดหยุ่น และเกิดการบาดเจ็บ หรือฉีกขาดเมื่อมีการขยับ ถึงจุดนี้ ร่างกายจะสร้างพังผืด เข้าไปยึดเกาะในบริเวณที่ฉีกขาด จึงยิ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดอาการแข็ง และหดเกร็ง ในบริเวณที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ จนผู้ป่วยรู้สึกปวดมากขึ้น ปวดไม่หาย
Trigger point และพังผืดนี้ มักจะแทรกอยู่บริเวณมัดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ สะบัก และไปขัดขวางทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่งผลให้เกิดอาการปวด เมื่อย ตึงบริเวณดังกล่าว
หาก trigger point และพังผืด ไปขัดขวาง และทำให้เลือดขึ้นไปเลี้ยงศีรษะไม่สะดวก ก็จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ หรือทำให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานไม่สมดุลกัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดไมเกรน ปวดขมับ กระบอกตา ตาพร่า หูอื้อ ร่วมด้วยได้
ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการสะสมเรื้อรังมานานและรุนแรงขึ้น trigger point และ พังผืด นั้นอาจไปรบกวนการทำงานของเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทส่งสัญญาณกันได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้มีอาการของเส้นประสาทร่วมด้วย เช่น อาการชา แสบร้อน ไฟช็อต เสียวแปล๊บ อ่อนแรงลงไปที่แขน ข้อศอก และนิ้วมือ เป็นต้น
ซึ่งอาการของออฟฟิศซินโดรมที่มีการรบกวนของเส้นประสาทที่พบได้บ่อยคือ อาการชามือ หรือปลายนิ้ว เนื่องจากเส้นประสาทเบรเคียล (brachial plexus) ซึ่งเป็นแขนงประสาทหลักบริเวณต้นคอที่ทอดผ่านมาบ่า ไหล่ ไหปลาร้า ต้นแขนจนถึงปลายนิ้ว ถูกรบกวนจากก้อน trigger point และพังผืด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ ชา ไฟช็อต อ่อนแรงลงไปที่แขน ข้อศอก หรือปลายนิ้ว
ทำไมรักษาออฟฟิศซินโดรมมานาน แต่ไม่หายสักที
แม้จะฟังดูเหมือนว่าออฟฟิศซินโดรมเป็นอาการของระบบกล้ามเนื้อที่ไม่รุนแรง หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการออฟฟิศซินโดรมสามารถสร้างปัญหา และกระทบกับชีวิตการทำงานอย่างมาก ในหลายๆ เคสที่รุนแรงนั้น ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้เลย ต้องลาออกมาอยู่บ้าน ทำให้เกิดปัญหาด้านการเงินตามมา
เมื่อมีอาการปวดคอ บ่า สะบัก เกิดขึ้น การบำบัดเบื้องต้นคงหนีไม่พ้น การนวดไทย หรือการทำกายภาพบำบัด ซึ่งวิธีการบำบัดนี้ โดยมากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นชั่วคราว เนื่องจากกล้ามเนื้อได้คลายตัวลง อาการปวดจึงลดน้อยลง แต่เมื่อผู้ป่วยกลับไปทำงาน หรือทำพฤติกรรมเดิมๆ อาการปวดจะเริ่มกลับมา ทำให้ต้องรักษากันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยที่อาการจะดีขึ้นหลังรักษา และจะกลับมาปวดอีกเมื่อกลับไปใช้งาน วนอยู่แบบนี้ ไม่หายขาด
สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะ การนวดไทยทั่วๆ ไป รวมทั้งการกายภาพบำบัดนั้น เป็นเพียงการทำให้กล้ามเนื้อชั้นบนๆ นิ่มลงชั่วคราว เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ไม่ได้กำจัดต้นตอของปัญหา ซึ่งก็คือ ก้อน trigger point รวมถึงพังผืดออกไป ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยกลับไปใช้พฤติกรรมเดิม กล้ามเนื้อก็จะกลับมาเกร็งตัวอีกครั้ง ผู้ป่วยก็จะกลับมามีอาการปวดเหมือนเดิม
วิธีรักษาออฟฟิศซินโดรมที่มีประสิทธิภาพ และให้ผลอย่างถาวร
การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมให้มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นจะต้องสลาย Trigger point และ พังผืด ในมัดกล้ามเนื้อทั้งในชั้นตื้นและชั้นลึกออกไปจนหมด เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวอย่างแท้จริง และให้เส้นเลือด และเส้นประสาทกลับมาทำงานได้เต็มที่อีกครั้ง อาการปวด และอาการผิดปกติต่างๆ ถึงจะหายไป และไม่กลับมาเป็นซ้ำๆ อีก
โดยการนวดรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม จะต้องเน้นการนวดสลายพังผืด บริเวณที่ทำให้เกิดอาการปวด ดังนี้
อาการปวดตึงคอ บ่า ไหล่ สะบัก และบ่าแข็งเป็นก้อน
การรักษาจะเน้นการสลายพังผืด และจุดยึดเกร็งในบริเวณคอ บ่า สะบัก ทั้งในมัดกล้ามเนื้อชั้นตื้น และชั้นลึก โดยมีจุดหลักๆ ดังนี้
- บริเวณ Trapezius เป็นมัดกล้ามเนื้อชั้นตื้นขนาดใหญ่ที่คลอบคลุมทั้งบริเวณต้นคอ บ่า จนถึงสะบักด้านใน
- บริเวณ Sternocleidomastoid เป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของต้นคอ ที่มีหน้าที่ในการหัน เอียงคอ
- บริเวณ Levator scapulae เป็นกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอเชื่อมกับสะบัก
- บริเวณ Supraspinatus เป็นกล้ามเนื้อบริเวณบ่า
- บริเวณ Infraspinatus เป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่คลุมบริเวณสะบัก
- บริเวณ Rhomboid เป็นกล้ามเนื้อชั้นลึกบริเวณร่องสะบัก ที่เชื่อมระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอก และกระดูกสะบัก
- บริเวณ Serratus posterior superior เป็นกล้ามเนื้อที่เชื่อมระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอก และกระดูกสะบัก (ตามแนวกระดูกสันหลัง Serratus posterior superior จะถัดขึ้นมาจากกล้ามเนื้อ Rhomboid)
อาการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก และมีอาการไมเกรน ปวดขมับ ปวดขึ้นศีรษะร่วมด้วย
สำหรับออฟฟิศซินโดรมที่มีอาการไมเกรนร่วมด้วย การรักษาต้องแก้พังผืด และ trigger point บริเวณ บ่า สะบัก ทั้งหมด คือ Trapezius , Levator scapulae
และเน้นชุดมัดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ ศีรษะ ที่เกิดการหดรัดเกร็งตัวจนเกิด trigger point และ พังผืดไปขัดขวางทางเดินของเส้นเลือด และเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงศีรษะ จนทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดขมับ กระบอกตา บางรายอาจมีอาการตาพร่า หูอื้อ ชาบริเวณกราม ขึ้นได้
โดยบริเวณกล้ามเนื้อที่มักพบปัญหา ได้แก่ Semispinalis capitis, Splenius capitis, Scalene ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อชั้นลึกบริเวณต้นคอที่เชื่อมกับศีรษะทั้งหมด
อาการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก และมีอาการชามือร่วมด้วย
สำหรับออฟฟิศซินโดรมที่มีอาการชามือร่วมด้วยนั้น สาเหตุหลักของอาการชา คือการที่เส้นประสาทถูกรบกวนจาก trigger point และพังผืด
วิธีการรักษาจะช่วยแก้จุด trigger point และพังผืดบริเวณคอ บ่า สะบักออกดังเดิม ได้แก่บริเวณมัดกล้ามเนื้อ Trapezius, Sternocleidomastoid, Levator scapulae, Supraspinatus
รวมถึง Scalene ซึ่งเป็นมัดกล้ามเนื้อบริเวณคอชั้นลึก ที่มีเส้นประสาทอยู่จำนวนมาก หากกล้ามเนื้อนี้มีการหดรัดเกร็งตัว หรือมีพังผืดไปเกาะ จะทำให้อาการกดทับของเส้นประสาทรุนแรงขึ้น
จากนั้นรักษาไล่ตามแนวเส้นประสาทที่เลี้ยงลงแขน เพื่อแก้อาการชานิ้ว ได้แก่บริเวณกล้ามเนื้อ Biceps brachii, Triceps brachii และ Extensor capi radialis longus
อาการปวดคอ บ่า สะบัก และปวดตึงลงหลังร่วมด้วย
สำหรับออฟฟิศซินโดรมที่เริ่มมีอาการลุกลามจากคอ บ่า สะบัก ลงไปบริเวณหลังนั้น ส่วนมากมักพบในผู้ที่นั่งทำงานเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อหลังเกิดการเกร็งตัว และมีพังผืดเกิดขึ้นร่วมด้วย
โดยการนวดรักษาจะไล่ตามแนวมัดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ สะบัก จนถึงหลัง โดยมีกล้ามเนื้อหลักๆ ดังนี้ Trapezius, Sternocleidomastoid, Levator scapulae, Scalene , Supraspinatus, Infraspinatus, Rhomboid และ Serratus posterior superior
และรักษาตามแนวกล้ามเนื้อหลังส่วนบนจนถึงหลังส่วนล่าง ดังนี้, Iliocostalis thoracis และ Longissimus thoracis ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหลังที่ทอดยาว ตั้งแต่หลังช่วงบนจนถึงหลังช่วงล่าง
ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม ด้วยการนวดสลาย Trigger point และ พังผืด
ก่อนจะตัดสินใจรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยวิธีการนวดสลาย trigger point และพังผืดนั้น ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจกับวิธีการรักษาและข้อพึงระวังต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาต่อตัวผู้ป่วยเอง โดยผู้ป่วยสามารถคลิกอ่านรายละเอียดได้ที่นี่
กลับสู่สารบัญคำแนะนำส่งท้ายสำหรับผู้ที่กำลังมีอาการออฟฟิศซินโดรม
เนื่องจากอาการออฟฟิศซินโดรมนั้น มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง หรือการทำงานในท่าเดิมนานๆ ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราให้อยู่ในอิริยาบถที่ถูกสุขลักษณะ และควรหมั่นลุก หรือเคลื่อนไหวร่างกายทุกๆ 1 ชม. เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวอยู่ในท่าเดิมนานๆ จนเกิดอาการบาดเจ็บตามมา
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเพียงการป้องกันการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้น หรือไม่ให้อาการเป็นหนักขึ้น แต่ในผู้ที่มีอาการของออฟฟิศซินโดรมแล้วนั้น ควรหาวิธีรักษาอย่างถูกต้อง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ อาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่หนักขึ้นจนแก้ไขได้ยาก
เช่น กลายเป็นภาวะหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท ซึ่งอาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน และสร้างความทุกข์ทรมานใจให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก