การเลือกร้านนวดแก้อาการ ที่ควรต้องรู้ มีอะไรบ้าง เพื่อช่วยในการตัดสินใจใช้บริการ

ร้านนวดแก้อาการ

อยาก นวดแก้อาการ ปวดหลัง ปวดขา ปวดคอ ปวดสะบัก ปวดกล้ามเนื้อ แต่ไม่รู้ว่าจะไปนวดแก้อาการที่ร้านไหนดี เลือกไม่ถูก อยากนวดกับหมอที่เก่งๆ ที่นวดแล้วหาย แนะนำร้านนวดแก้อาการให้หน่อยได้ไหม อยากหาร้านนวดแก้อาการดีๆ ไม่ยากค่ะ เราลองมาดูรายละเอียดที่ควรใช้ในการพิจารณาเลือกร้านนวด-สถานที่นวดแก้อาการกันค่ะ

การนวดแก้อาการเหมือนการนวดแผนไทย หรือไม่

การนวดแก้อาการนั้น ตามปกติแล้วจะต่างจากการนวดแผยไทยทั่วไปตรงที่วัตถุประสงค์ของการนวดเป็นสำคัญ

การนวดแผนไทย หรือการนวดเพื่อสุขภาพนั้น มีจุดประสงค์เพื่อความผ่อนคลายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นความผ่อนคลายทางกาย จากอาการเมื่อย ตึง ล้า ซึ่งเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อในแต่ละวัน หรือในบางแห่งอาจจะเพิ่มความผ่อนคลายทางอารมณ์เข้ามาด้วย โดยการเพิ่มบรรยากาศในร้านให้ชวนผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้เสียงเพลง การใช้กลิ่นหอม เป็นต้น

ส่วนการนวดแก้อาการนั้น จะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างออกไป นั่นคือจะเป็นการนวดเพื่อบรรเทาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อกระดูก เป็นต้น ซึ่งอาการผิดปกติที่พบบ่อยจะได้แก่ อาการปวด ตึง ชา แสบร้อน อ่อนแรง ตามร่างกาย การนวดในลักษณะนี้จะไม่ได้เน้นความผ่อนคลายขณะนวด ดังนั้น ขณะทำการนวดรักษา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บกว่า และจะไม่รู้สึกสบายผ่อนคลายเหมือนขณะนวดแผนไทย

กลับสู่สารบัญ

ประเภทของร้านนวดแก้อาการ

โดยปกติแล้วสถานที่บริการนวดแก้อาการนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ

1. ร้านที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล

ได้แก่ คลินิกแพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์/แผนจีน หรือเป็นแผนกแพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์/แพทย์แผนจีน ในโรงพยาบาล

สถานที่นวดแก้อาการประเภทนี้ จะสามารถรับนวดรักษาอาการได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพราะได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล ซึ่งจะต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือแพทย์แผนจีนคอยควบคุมดูแลการรักษาอยู่ตลอด โดยแพทย์ประจำคลินิกนั้นสามารถลงมือทำหัตถการเอง หรือจะให้ผู้ช่วยแพทย์เป็นผู้ทำหัตถการแทนก็ได้

คลินิกรักษาอาการปวดประเภทนี้ อาจจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป และอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิธีการนวด โดยอาจมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมด้วย แต่วัตถุประสงค์หลักก็คือเป็นไปเพื่อรักษาอาการปวด ชา อ่อนแรง ของผู้ป่วยให้ดีขึ้นเป็นหลัก การเข้ารับการรักษาสถานพยาบาลประเภทนี้ จะค่อนข้างปลอดภัย เพราะผู้ทำหัตถการทุกคนจะต้องเรียนจบหลักสูตร ที่ผ่านการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข และจะอยู่ในการควบคุมของแพทย์แผนไทย/แผนไทยประยุกต์/แพทย์แผนจีนตลอดเวลา

ตัวอย่างร้านที่ขึ้นทะเบียน

2. ร้านที่ขึ้นทะเบียนเป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพ หรือร้านนวดแผนไทย

ร้านนวดเพื่อสุขภาพ หรือร้านนวดแผนไทยนั้น ในบางแห่งอาจจะมีหมอนวดที่รับนวดแก้อาการอยู่ด้วย แต่การนวดแก้อาการโดยร้านนวดเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน ยังไม่ได้การรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าถูกต้องตามกฏหมาย เนื่องจากผู้ที่จะแก้อาการได้ถูกต้องตามกฏหมายนั้น จำเป็นจะต้องผ่านกฏเกณฑ์ต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการแก้อาการนั้น จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล

ดังนั้น หากลูกค้าต้องการเข้ารับบริการนวดแก้อาการตามร้านนวดแผนไทยนั้น ลูกค้าอาจจะต้องพึงระมัดระวังในการเลือกหมอนวดให้มากขึ้น เพราะหมอนวดบางท่านอาจจะยังไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการนวดรักษามาก่อน และอาจพลาดพลั้งทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อตัวลูกค้าได้

การนวดแก้อาการในร้านนวดนั้น ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกันเกือบทุกร้าน คือจะเริ่มจากการนวดทั้งตัวเหมือนการนวดแผนไทยก่อน แล้วจึงนวดย้ำในบริเวณที่ลูกค้าต้องการในภายหลัง ลักษณะการนวดคือจะใช้ศอก หรือนิ้วมือ กดย้ำๆ ไปเรื่อยๆ บริเวณที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งการนวดในลักษณะนี้ อาจจะไม่ได้แก้ไขอาการได้ตรงจุดมากนัก เนื่องจากจะหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการนวดไทย

3. สถานที่รับแก้อาการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนใดๆ

สถานที่แก้อาการประเภทนี้ จะไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพ หรือเป็นคลินิก และส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการในบ้านของหมอนวดเอง โดยที่ตัวผู้นวดนั้นอาจจะผ่าน หรือไม่ผ่านหลักสูตรที่รับรองจากกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ หมอนวดประเภทนี้ อาจจะเป็นหมอนวดพื้นบ้าน หรือเป็นผู้บำบัดอาการปวดที่มีศาสตร์เฉพาะเป็นของตนเอง แต่อาจจะยังไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การนวดลักษณะนี้อาจจะไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในรูปแบบของการนวดไทย อาจจะมีการผสมผสานหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน และอาจจะมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไม้ ผ้า ตะเกียบ เครื่องมือทางกายภาพบำบัด หรืออุปกรณ์อื่นๆ ร่วมด้วย ลูกค้าที่ต้องการเข้ารับบริการจากร้านประเภทนี้ อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณา และควรศึกษาวิธีการรักษารวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นให้ดีเสียก่อน เผื่อกรณีที่มีการพลาดพลั้งเกิดขึ้น จะได้มั่นใจว่าจะไม่มีอันตรายใดๆ ที่ร้ายแรง

กลับสู่สารบัญ

ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการ

โดยปกติแล้วการนวดแก้อาการนั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการนวดแผนไทยทั่วไป เนื่องจากการนวดแก้อาการที่จะให้ผลลัพธ์ได้ชัดเจนนั้น ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของผู้รักษาเป็นอย่างมาก ซึ่งความรู้ความชำนาญเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่การเรียนตามหลักสูตรเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมาเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางขึ้น

โดยทั่วๆ ไป ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการ จะเริ่มต้นตั้งแต่ครั้งละ 500 จนถึงหลักหมื่น (xx,xxx) ซึ่งผู้ป่วยควรพึงใช้วิจารณญานในการเลือกสถานที่รักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

หลักเกณท์ในการเลือกร้านนวดแก้อาการ

1. ความเชี่ยวชาญของผู้ทำการรักษา

ความเชี่ยวชาญของผู้รักษาคือสิ่งแรกๆ ที่ผู้ป่วยต้องพิจารณา ถ้าหมอผู้รักษามีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยเป็นอย่างดี การรักษาจะให้ผลที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

ผู้ที่เชี่ยวชาญในการแก้อาการนั้น จะต้องสามารถอธิบายได้ถึงตำแหน่งที่มีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ หรือเส้นประสาท รวมถึงต้องอธิบายสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกตินั้นๆ ได้ และควรจะต้องตอบคำถาม และข้อสงสัยที่ผู้ป่วยต้องการทราบทั้งหมดได้อย่างละเอียด

นอกจากอธิบายอาการของผู้ป่วยได้แล้ว วิธีที่ใช้ในการรักษานั้นก็ควรจะสอดคล้อง สมเหตุสมผล และสามารถแก้ได้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการที่ผู้ป่วยมี เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

2. ความเจ็บที่เกิดขึ้นขณะทำการรักษา

แน่นอนว่าขณะนวดแก้อาการนั้น ความเจ็บที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการนวดแก้อาการจะโฟกัส และเน้นไปยังบริเวณกล้ามเนื้อที่มีปัญหาเป็นหลัก ซึ่งจะไม่เหมือนกับการนวดแผนไทยที่เน้นไปในเรื่องของความผ่อนคลาย

ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องนำปัจจัยนี้มาพิจารณาร่วมด้วย เพราะผู้ป่วยแต่ละท่านมีความอดทนต่อความเจ็บในระดับที่แตกต่างกัน ผู้ที่ทนความเจ็บได้ค่อนข้างมาก ก็อาจจะมีตัวเลือกในการรักษาที่มากกว่า ในขณะที่ผู้ที่ทนความเจ็บได้น้อย อาจจะมีทางเลือกในการรักษาที่น้อยกว่า หรืออาจจะต้องเปลี่ยนไปรักษาด้วยแนวทางอื่นแทน

3. ความคุ้มค่า

การนวดแก้อาการนั้นก็ไม่ต่างจากการเลือกซื้อสินค้า หรือบริการอื่นๆ เพราะลูกค้าทุกคนต้องการความคุ้มค่า ต้องการที่จะได้รับประโยชน์จากสินค้า หรือบริการนั้นๆ ให้ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายไป

เนื่องจากการนวดแก้อาการโดยปกติแล้ว จะเป็นการรักษาแบบต่อเนื่อง ดังนั้นวิธีง่ายๆ ที่จะสามารถนำมาเปรียบเทียบความคุ้มค่าก็คือ การคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นรายเดือน และผลการรักษาที่ได้เมื่อเทียบกับอาการก่อนทำการรักษา

เพราะการนวดรักษาบางแห่งนั้น อาจจะดูเหมือนเสียค่าใช้จ่ายไม่มากในแต่ละครั้ง แต่ผู้ป่วยจะต้องเข้าไปรักษาบ่อยหรือถี่มาก จนเมื่อคำนวณออกมาเป็นรายเดือนแล้ว ค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็น ค่ารักษา ค่าเดินทาง กลับค่อนข้างสูงมาก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ป่วยจะต้องพิจารณาผลการรักษาควบคู่ไปด้วย ถ้ารักษาแล้วได้ผลดีชัดเจน ก็ถือว่าคุ้ม แต่ถ้ารักษาไป 2-3 ครั้งแล้วอาการยังทรงๆ ไม่ดีขึ้นแบบชัดเจน ก็ถือว่าการรักษานั้นไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร

4. จรรยาบรรณของหมอผู้รักษา และเจ้าของร้าน

หมอผู้รักษา รวมถึงเจ้าของร้าน ควรมีจรรณยาบรรณในการรักษาผู้ป่วย โดยที่ยึดถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ การรักษาควรมุ่งเน้นไปเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยใช้วิธีการที่รักษาได้จริง ปลอดภัย ไม่เลี้ยงไข้ ไม่หลอกลวงผู้ป่วยให้เข้าทำการรักษาบ่อยๆ โดยไม่เห็นผล

การให้ข้อมูลกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรักษา หรือการอธิบายสาเหตุอาการ จะต้องเน้นเรื่องความถูกต้อง ตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวง ไม่โอ้อวดจนเกินจริง

ไม่ควรพูดจาโจมตี หรือกล่าวอ้างความเท็จต่อหมอผู้รักษาในสถานที่อื่นๆ เพราะการรักษาแต่ละแห่งย่อมมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน ผู้ป่วยแต่ละท่านอาจพอใจการรักษาที่ต่างกันออกไป ดังนั้นที่ใดจะรักษาดี หรือไม่ดี ควรให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินเอง หน้าที่ของหมอผู้รักษา และเจ้าของร้านคือ การตั้งใจรักษา และมุ่งมั่นพัฒนาวิธีการรักษา เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย ไม่ใช่การกล่าวร้ายหมอท่านอื่นๆ เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อันใดแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดีอีกด้วย

5. รีวิวผลการรักษา

การแชร์ประสบการณ์การรักษาจากผู้ป่วยท่านอื่นๆ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณา หมอนวดอาการที่เก่ง และชำนาญนั้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะแนะนำกันปากต่อปาก แต่ทั้งนี้ การรีวิวที่พบเห็นในอินเตอร์เน็ทนั้น อาจจะมีทั้งที่เป็นรีวิวจากผู้ป่วยจริง หรือรีวิวที่มีการว่าจ้าง ซึ่งไม่ได้เกิดจากผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการจริงก็ได้

ดังนั้น ผู้ป่วยควรมีวิจารณญาณในการอ่านรีวิวเหล่านี้ให้มาก ทางที่ดีควรมีการโทรไปสอบถามรายละเอียดจากร้านที่เราสนใจ โดยควรถามเจาะลึกเกี่ยวกับสาเหตุของอาการที่มี และวิธีการรักษาที่ทางร้านใช้ เพื่อดูว่าคำชี้แจงที่ได้มานั้น มีเหตุผลทางการแพทย์ หรือแสดงถึงความเชี่ยวชาญในด้านนี้จริงๆ หรือไม่ ไม่ควรปักใจเชื่อแต่คำรีวิวที่มีในอินเตอร์เน็ทเพียงอย่างเดียว เพราะคำรีวิวเหล่านั้น สามารถสร้างขึ้นได้

กลับสู่สารบัญ

7 ข้อปฏิบัติ ก่อนเข้ารับบริการนวดแก้อาการในแต่ละร้าน

1. ก่อนเข้าทำการรักษา ผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตนเองอย่างละเอียด และจดบันทึกเอาไว้ว่าตนเองมีอาการผิดปกติบริเวณไหนบ้าง เพื่อที่จะสามารถนำมาวัดผลในภายหลัง

2. อ่านข้อมูลที่ร้านนวดแก้อาการ/สถานที่นวดแก้อาการนั้นๆ แจ้งไว้

หากร้าน/สถานนวดเแก้อาการนั้นๆ มีเพจ/เว็บไซต์ ผู้ป่วยควรเข้าไปศึกษา และอ่านรายละเอียดต่างๆ จนเข้าใจเสียก่อน เพราะในสถานที่บางแห่งนั้น จะลงรายละเอียดต่างๆ อย่างครบถ้วน รวมถึงข้อห้าม ข้อระวังเกี่ยวกับการรักษา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง หรือหากทางร้านไม่มีเพจ/เว็บไซต์ ก็ควรโทรไปเพื่อขอทราบรายละเอียดทั้งหมด

3. ถ้าร้านนวดแก้อาการที่จะเข้ารับบริการไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล ผู้ป่วยควรแจ้งให้งด การกระตุก กระชาก ดัด ดึง แอ่น ร่างกาย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บในกล้ามเนื้อ และข้อต่อ ที่อาจพลาดพลั้งเกิดขึ้นโดยผู้นวดที่ไม่ชำนาญ

4. หากหลังทำหัตถารแล้ว ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น หรือ ยังรู้สึกมีอาการหลงเหลืออยู่ ควรแจ้งให้ผู้รักษาทราบทันที หมอผู้รักษาที่ดี ควรทำการแก้ไขเพิ่มเติมให้จนอาการเบาบางลง

5. ควรสอบถามการปฏิบัติตัวหลังการรักษาของสถานที่นวดแก้อาการนั้นๆ ให้เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน

6. ผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตนเองหลังการรักษา โดยเปรียบเทียบกับบันทึกที่ได้ลงไว้ก่อนเข้ารับการรักษา ว่ามีอาการดีขึ้น หรือไม่ ดีขึ้นตรงจุดใดบ้าง ดีขึ้นได้นานเท่าใด มีอาการใดเพิ่มเติมขึ้นมาบ้าง โดยที่:

  • ถ้าการนวดแก้อาการนั้นๆ ไม่ได้ทำให้เกิดการระบมใดๆ ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการก่อน – หลังการรักษาได้ทันที หรืออาจจะรอสัก 1-2 วัน ก่อน แล้วค่อยเริ่มสังเกตอาการ
  • ถ้าการนวดแก้อาการนั้น มีอาการระบมเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ป่วยควรรอให้อาการระบมหายสนิทเสียก่อน แล้วถึงเริ่มสังเกตอาการของตนเอง

7. การนวดแก้อาการที่มีประสิทธิผลนั้น ผู้ป่วยควรจะเริ่มรู้สึกดีขึ้นภายใน 1-3 ครั้ง หากการนวดแก้อาการใด ไม่ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นชัดเจนภายใน 1-3 ครั้ง แสดงว่าการนวดแก้อาการนั้นๆ อาจไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย ผู้ป่วยควรพิจารณาเปลี่ยนสถานที่นวดแก้อาการ หรือเปลี่ยนวิธีการรักษา

กลับสู่สารบัญ

ทิ้งท้ายสำหรับผู้ที่ต้องการหาสถานที่นวดแก้อาการ

ผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการนวดแก้อาการ ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียด รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากสถานที่ให้บริการนวดแก้อาการแต่ละแห่ง สิ่งหลักๆ ที่ควรนำมาพิจารณาคือ ประเภทของร้าน/สถานพยาบาล วิธีการรักษาที่มีหลักทางกายวิภาคศาสตร์มารองรับ ความเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น ความเชี่ยวชาญของหมอผู้รักษา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเจอกับหมอนวดที่ไม่มีความชำนาญ และทำให้อาการที่มีอยู่ทรุดหนักลง