ปวดหลังร้าวลงขา เกิดจากอะไร ทำไมถึงรักษาหายได้ด้วยการนวดแก้อาการ

ปวดหลังร้าวลงขา

อาการปวดหลังร้าวลงขา เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่ยกของหนักเป็นประจำ ผู้ที่ยกของผิดจังหวะ หรือผู้ที่นั่งทำงานนานๆ ซึ่งอาการของผู้ป่วยในแต่ละเคสอาจมีความแตกต่างกันไป ตามบริเวณกล้ามเนื้อ และข้อต่อที่มีปัญหา แต่โดยรวมแล้วคือจะมีอาการปวดร้าวลงไปที่ขา ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ในบางอิริยาบถได้ เช่น ยืนนานไม่ได้ เดินนานไม่ได้ นั่งนานไม่ได้ หรือนอนราบ/นอนหงายไม่ได้ เป็นต้น

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด ความรุนแรงของอาการ และทำไมการนวดสลายพังผืดถึงสามารถรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาได้

สารบัญเนื้อหา

1. สาเหตุของอาการปวดหลังร้าวลงขา

2. อาการที่มักพบควบคู่กับอาการปวดหลังร้าวลงขา

3. ปวดหลังร้าวลงขา ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อันตรายหรือไม่

4. ทำไมพังผืดจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา

5. การนวดแก้อาการสลายพังผืดคืออะไร แล้วทำไมถึงสามารถรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาให้หายได้

6. อาการปวดหลังร้าวลงขาสามารถนวดได้จริงหรือ ทำไมแพทย์สั่งห้ามนวด

7. ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาด้วยการนวดสลายพังผืด

8. คำแนะนำส่งท้ายสำหรับผู้ที่กำลังมีอาการปวดหลังร้าวลงขา

สาเหตุของอาการปวดหลังร้าวลงขา

อาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างนั้น ไม่ว่าจะเกิดขณะ ยืน เดิน นั่ง หรือนอนราบ คือ อาการที่บ่งบอกว่า เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานส่วนขาถูกรบกวนจนไม่สามารถทำงานได้ปกติ เส้นประสาทเหล่านี้มักจะมีจุดกำเนิดอยู่บริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังช่วง L4- L5-S1

โดยเส้นประสาทที่ถูกรบกวนหรือถูกกดทับที่พบได้บ่อยที่สุดคือ เส้นประสาทไซอาติก (Sciatic) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ใหญ่และยาวที่สุดในร่างกาย โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ข้อกระดูก L4-L5 และ S1-S3 และทอดยาวผ่านบริเวณ สลักเพชร ก้น ต้นขา น่อง หน้าแข้ง ข้อเท้า และฝ่าเท้า

โดยอาการปวดร้าวลงขานั้น โดยมากมักจะปวดไปตามแนวเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic) ได้แก่ ปวดหลัง ปวดสลักเพชร ปวดก้น ปวดต้นขา ปวดน่อง ปวดหรือชาหน้าแข้ง ปวดข้อเท้า ชาปลายเท้า ซึ่งอาการนี้จะถูกเรียกว่า ไซอาติก้า (Sciatica) ผู้ป่วยแต่ละเคสอาจจะมีแค่บางอาการ หรืออาจมีทุกอาการร่วมกันก็เป็นได้

กลุ่มเส้นประสาทหางม้า (Cauda Equina) เป็นอีกกลุ่มเส้นประสาทที่ถูกกดทับ กลุ่มเส้นประสาทหางม้าเป็นกลุ่มเส้นประสาทบริเวณ L1-S5 ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อขา ต้นขาด้านใน ก้น ข้อเท้า ฝ่าเท้า รวมถึงควบคุมการทำงานของระบบขับถ่าย หากเส้นประสาทในกลุ่มนี้ถูกกดทับ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขา ชาก้น ชาต้นขาด้านใน ขาอ่อนแรงได้

โดยปกติแล้ว ก่อนที่จะมีการปวดหลังร้าวลงขานั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการ ปวด เมื่อย หรือ ตึงบริเวณหลังช่วงล่างเรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ มาก่อนอยู่แล้ว จนกระทั่งมีอาการมากขึ้นและกลายเป็นอาการปวดหลังร้าวลงขา

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา

  1. การอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกสุขลักษณะต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น การนั่งนานทำงานนานๆ การนั่งขับรถนานๆ การนั่งไม่ถูกท่าเป็นประจำ การนั่งทับกระเป๋าสตางค์ เป็นต้น
  2. การยกของที่หนักเกินไป หรือยกของผิดจังหวะ
  3. การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬา เช่น เวทเทรนนิ่ง ฟุตบอล เป็นต้น
  4. อุบัติเหตุต่างๆ เช่น ล้มกระกระแทกพื้น รถล้ม ตกบันได เป็นต้น
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขานั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

1. หมอนรองกระดูกบริเวณหลังเคลื่อนที่ไปทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อม/ทรุด หรือข้อต่อเชิงกรานเสื่อม

อาการปวดหลังร้าวลงขาจากสาเหตุนี้ จะเกิดจากความปกติของข้อต่อเป็นหลัก กล่าวคือเมื่อหมอนรองกระดูก หรือกระดูกสันหลังเกิดความผิดปกติจนผิดรูปไป หรือเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิมและไปทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง เช่น เส้นประสาทไซอาติก (Sciatic) หรือกลุ่มเส้นประสาทหางม้า (Cauda Equina) ซึ่งจะควบคุมการทำงานของขา ผู้ป่วยจึงเกิดอาการปวดร้าวลงขา ปวดสลักเพชร ปวดก้น ปวดต้นขา ปวดน่อง ปวดข้อเท้า และอาจมีอาการชาขา ชาเท้าร่วมด้วย

อาการปวดหลังร้าวลงขาจากสาเหตุนี้มักจะตรวจพบได้ค่อนข้างชัดเจนจากการทำ MRI ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาตามระดับความรุนแรงของความเสียหายของข้อต่อ

2. กล้ามเนื้อหลังอักเสบ และเกร็งตัวจนไปรบกวนเส้นประสาท

อาการปวดหลังร้าวลงขาจากสาเหตุนี้ จะเกิดจากกล้ามเนื้อเป็นหลัก กล่าวคือเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณหลังเกิดการบาดเจ็บหรือเกิดความตึงเครียดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการยกของผิดท่า การนั่งนาน หรือ การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ร่างกายจะเริ่มสร้างพังผืดมาเกาะ และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นแข็งตึง ไม่ยืดหยุ่น ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกเมื่อย ตึง หรือปวดหลัง ซึ่งหากไม่รีบรักษาให้ถูกวิธี พังผืดจะเริ่มค่อยๆ เกาะหนาขึ้นจนเริ่มไปรบกวนเส้นประสาทที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น เส้นประสาทไซอาติก (Sciatic) หรือกลุ่มเส้นประสาทหางม้า (Cauda Equina) ที่ควบคุมการทำงานของขา ทำให้ทำงานผิดเพี้ยนไป ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกปวดร้าวไปตามขา และอาจมีอาการชาขาร่วมด้วย

อาการปวดหลังร้าวลงขาด้วยสาเหตุนี้ จะตรวจพบค่อนข้างยาก เนื่องจากกล้ามเนื้อที่หดเกร็งรวมถึงพังผืด มักจะไม่แสดงให้เห็นใน MRI แพทย์จะไม่แนะนำให้ผ่าตัด เนื่องจาก หมอนรองกระดูก และข้อต่อของผู้ป่วยยังอยู่ในสภาพที่ปกติ

กลับสู่สารบัญ

อาการที่มักพบควบคู่กับอาการปวดหลังร้าวลงขา

อาการปวดหลังร้าวลงขานั้น หากเพิ่งเริ่มเป็น ผู้ป่วยมักจะมีอาการร้าวลงขาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง แต่หากผู้ป่วยปล่อยอาการไว้เนิ่นนานโดยไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธี อาการจะเริ่มลามไปขาทั้ง 2 ข้าง นอกจากนี้เมื่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของขาถูกรบกวนจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากอาการปวด เช่น

1. อาการชา

อาการชาที่พบ มักเป็นอาการชาบริเวณหน้าแข้ง และปลายเท้า

2. อาการรองช้ำ

อาการรองช้ำ หรือ อาการปวดส้นเท้า ที่มีสาเหตุจากการปวดหลังนั้น มักจะเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง โดยมักจะเป็นอาการเริ่มแรกที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติบริเวณหลังช่วงล่าง

3. อาการปวดเข่า

โดยอาการปวดเข่าที่มาจากการปวดหลังนั้น มักจะเป็นอาการปวดเข่าข้างเดียวกันกับอาการปวดหลัง เนื่องจากกล้ามเนื้อหลัง ต้นขา และหัวเข่า มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน หากกล้ามเนื้อหลังเกิดการหดเกร็งตัวมากๆ จะดึงรั้งได้เกิดอาการปวดต้นขา และหัวเข่าร่วมด้วย

4. อาการแสบร้อน ไฟซ็อต เสียวๆ หนาๆ

  • อาการแสบร้อนที่พบบ่อยคือ อาการแสบร้อนบริเวณก้น และต้นขา
  • อาการไฟช็อตที่พบบ่อยคือ ไฟช็อตบริเวณต้นขา และหน้าแข้ง
  • อาการเสียวที่พบบ่อยคือ เสียวๆ บริเวณหน้าแข้ง
  • อาการหนาๆ ที่พบบ่อยคือ บริเวณก้น หลังต้นขา และ บริเวณฝ่าเท้า

5. อาการอ่อนแรง

อาการขาอ่อนแรง หรือขาไม่มีแรงนั้น เป็นอาการที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการที่ค่อนข้างหนัก เพราะเส้นประสาทถูกรบกวนจนไม่สามารถบังคับกล้ามเนื้อให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ผู้ป่วยที่มีอาการขาอ่อนแรงได้ระยะหนึ่ง มักจะมีอาการกล้ามเนื้อขาลีบตามมา

6. ระบบขับถ่ายแปรปรวน

หากพังผืดได้ลุกลามไปรบกวนกลุ่มเส้นประสาทหางม้า (Cauda Equina) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระบบขับถ่าย ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่าระบบขับถ่ายของตนผิดปกติ เช่น ไม่รู้สึกปวดถ่าย ไม่รู้สึกขณะขับถ่าย ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ เป็นต้น

กลับสู่สารบัญ

ปวดหลังร้าวลงขา ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อันตรายหรือไม่

ถึงแม้ว่าอาการปวดหลังร้าวลงขาอาจจะดูเผินๆ เหมือนกับว่าเป็นเพียงอาการที่สร้างความปวดรำคาญในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วอาการปวดหลังร้าวลงขานี้ อันตรายและสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตมากกว่าที่คิด

ในหลายๆ เคสที่ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงขาเรื้อรังมานานและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อถึงจุดหนึ่งเส้นประสาทจะถูกกดทับอย่างหนักจนสั่งการไม่ได้ ผู้ป่วยจะเริ่มไม่สามารถควบคุมขาทั้ง 2 ข้างได้ ไม่สามารถบังคับเท้าได้ จนที่สุดแล้วจะใช้การขาไม่ได้เลย ยืนไม่ได้ และเดินไม่ได้ ต้องอยู่ในท่านอนเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ หากกลุ่มเส้นประสาทหางม้า (Cauda Equina) ถูกกดทับร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย โดยอาจเริ่มจาก ขับถ่ายลำบากขึ้น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ กลั้นอุจจาระไม่ได้ ไม่รู้สึกขณะตัวขับถ่าย ขับถ่ายเองไม่ได้ หรือในบางเคสอาจจะยังพอรู้สึกบ้าง แต่อาจจะควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ต้องขับถ่ายโดยใช้วิธีสวนแทน

อาการปวดหลังร้าวลงขาจึงเป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยปละละเลย และควรรีบรักษาให้หายตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามและทรุดหนักมากขึ้นจนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตทั้งของผู้ป่วยเองและของคนรอบข้าง

กลับสู่สารบัญ

ทำไมพังผืดจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา

พังผืดคือ กลุ่มเนื้อเยื่อโปรตีนที่มีส่วนประกอบของคอลลาเจน ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อซ่อมแซมอาการบาดเจ็บต่างๆ โดยปกติแล้วกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ หรือเส้นประสาทที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเกิดจากการใช้งานในอิริยาบถเดิมซ้ำๆ การยกของหนัก หรืออุบัติเหตุ จะมีพังผืดไปยึดเกาะอยู่ ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดความแข็ง (stiff) ไม่ยืดหยุ่น และยังขัดขวางไม่ให้เลือดนำพาสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเซลล์บริเวณที่มีปัญหาได้สะดวก ผู้ป่วยจึงเกิดอาการปวดขึ้น

หากพังผืดที่ยึดเกาะบริเวณที่มีปัญหา ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี พังผืดจะค่อยๆ เกาะตัวหนาขึ้นและลุกลามไปยังบริเวณอื่นๆ และหากพังผืดลุกลามไปรบกวนเส้นประสาท จะทำให้เส้นประสาททำงานผิดเพี้ยนไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการที่ปิดปกติอื่นๆ ตามมา เช่น อาการชา แสบร้อน อ่อนแรง เป็นต้น

ดังนั้นหากต้องการที่จะแก้ปัญหาอาการปวดหลังร้าวลงขาให้ได้ผลถาวร จำเป็นจะต้องกำจัดพังผืดในบริเวณที่มีปัญหา ซึ่งได้แก่ บริเวณ หลัง สะโพก ต้นขา หน้าแข้ง ข้อเท้า ออกให้หมด เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเส้นประสาทที่มีปัญหา คลายตัวจากอาการเกร็ง และกลับมามีความยืดหยุ่น และมีสุขภาพดีดังเดิม

ในกรณีที่พังผืดลุกลามไปบริเวณข้อต่อและหมอนรองกระดูก ก็จะทำให้ข้อต่อและหมอนรองกระดูกแข็งล็อค และถูกดึงรั้งให้เคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิมไปทับเส้นประสาท ซึ่งอาการผิดปกติของข้อต่อได้แก่ ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกทรุด กระดูกเสื่อม

ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ต้นเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนตัวผิดตำแหน่งนั้น โดยมากจะเกิดจากการที่มีพังผืดไปเกาะยึดระหว่าง หมอนรองกระดูก และกล้ามเนื้อรอบๆ ของหมอนรองกระดูกนั้นๆ จนเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวเกิดความตึงเครียดและดึงรั้งกัน จนดึงให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนที่ออกมาทับเส้นประสาท

ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ดังนั้นการรักษาที่จะทำให้ได้ผลอย่างยั่งยืนคือการสลายพังผืดที่เป็นตัวยึดรั้งให้หมอนรองกระดูกที่อยู่ผิดตำแหน่ง หรือ ที่ปลิ้นออกมาให้สลายออกไป เมื่อไม่มีพังผืดคอยดึงรั้ง หมอนรองกระดูกก็สามารถเคลื่อนที่กลับสู่ตำแหน่งเดิมได้ตามกลไกการฟื้นฟูของร่างกาย และไม่กลับมาปลิ้นทับเส้นประสาทอีกในอนาคต

นี่คือสาเหตุว่าทำไมผู้ป่วยหลายท่าน ถึงแม้จะรักษาด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำกายภาพ การจัดกระดูก ทานยา ทานอาหารเสริมแล้ว อาการถึงไม่หายขาด หรือดีขึ้นแต่ก็กลับมาปวดใหม่ซ้ำๆ นั่นเป็นเพราะตัวพังผืดที่เป็นสาเหตุหลักนั้น ไม่ได้ถูกกำจัดออกไป

ภาวะกระดูกทรุด

ในกรณีของกระดูกทรุด จะเกิดจากการที่มีพังผืดเกาะยึดบริเวณข้อกระดูก 2 ข้อ (ข้อบน – ข้อล่าง) โดยพังผืดที่เกาะนั้นค่อยๆ ดึงให้ข้อกระดูกทั้ง 2 ข้อนี้ชิดเข้าหากัน จนหมอนรองกระดูกถูกบีบยุบตัวลง และข้อกระดูกบน-ล่าง ทรุดติดกัน เกิดการกดทับเส้นประสาทในบริเวณนั้นๆ ทำให้มีอาการปวดหลังร้าวลงขา หรือ ชาลงขาทั้ง 2 ข้าง

ภาวะกระดูกทรุด

เมื่อนวดสลายพังผืดออกได้หมด กระดูกข้อบน-ล่าง จะค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากกันและคลายตัวออกจากการกดทับเส้นประสาท อาการปวด ชา ก็จะหายไป

ภาวะกระดูกเสื่อม

ในกรณีของกระดูกเสื่อมนั้น เกิดจากการที่กระดูกสันหลังในข้อนั้นๆ ถูกใช้งานมากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บ ร่างกายก็จะเริ่มสร้างพังผืดมากเกาะบริเวณข้อกระดูกที่บาดเจ็บนั้นๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งพังผืดจะเกาะจนหนา ส่งผลให้ข้อกระดูกเกิดการแข็งตัวและไม่ยืดหยุ่น ถ้าปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษา พังผืดจะเริ่มไปรบกวนเส้นประสาทบริเวณข้างเคียง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ปวด ชา หรืออาการผิดปกติอื่นๆ

ภาวะกระดูกเสื่อม

ในเคสผู้ป่วยกระดูกเสื่อมนั้น เวลาทำ X-RAY หรือ MRI จะมองไม่เห็นข้อกระดูกบริเวณที่โดนพังผืดปกคลุม แพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นกระดูกเสื่อม ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถรักษาได้โดยการนวดสลายเอาพังผืดที่เกาะบริเวณรอบข้อกระดูกนั้นออก อาการผิดปกติก็จะหายไป และผู้ป่วยก็จะกลับมามีข้อกระดูกที่ยืดหยุ่นสุขภาพดีดังเดิม

การนวดสลายพังผืดคืออะไร ทำไมถึงสามารถรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาให้หายได้

การนวดสลายพังผืดเป็นการนวดรักษาที่เน้นกำจัดต้นเหตุที่แท้จริงของอาการปวด รวมถึงอาการผิดปกติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการชา แสบร้อน อ่อนแรง เป็นต้น เมื่อต้นเหตุของปัญหาถูกกำจัดออกจนหมด อาการปวดร้าวลงขา ชาลงขา ก็จะดีขึ้นอย่างถาวร และไม่กลับมาเป็นซ้ำๆ อีกในอนาคต

โดยการนวดสลายพังผืดนั้น จะเริ่มจากการตรวจคลำหาพังผืดที่เกาะอยู่ตามบริเวณ กล้ามเนื้อหลัง สะโพก สลักเพชร กระเบนเหน็บ ก้นกบ ต้นขา หน้าแข้ง ไปจนถึงข้อเท้า รวมถึงในบริเวณ ข้อต่อต่างๆ หมอนรองกระดูก si joint เป็นต้น

เมื่อพบพังผืดในบริเวณที่มีปัญหาแล้ว จะทำการใช้ นิ้วมือ ข้อศอก หรือไม้นวดเล็กๆ กดคลึงไปในบริเวณนั้นๆ จนพังผืดแตกตัวออก เมื่อพังผืดถูกสลายออก กล้ามเนื้อหรือข้อต่อบริเวณนั้นๆ จะคลายตัวออกทันที เลือดจะสามารถนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงได้ดีขึ้น ในขณะนวดรักษานั้น จะมีการย้ายจุดคลึงไปเรื่อยๆ จากจุดที่คลายตัวแล้ว ไปยังจุดอื่นๆ ที่ยังมีพังผืดเกาะอยู่

การรักษาด้วยการนวดแก้อาการสลายพังผืดนี้ จะไม่มีการดัด บิด แอ่น กระตุก กระชาก หรือเหยียบ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เนื่องจากการดัด บิด แอ่น กระชากหรือ เหยียบนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาจากต้นเหตุที่แท้จริง และอาจจะทำให้อาการที่มีอยู่ทรุดหนักลงได้ หากมีการพลาดพลั้งเกิดขึ้น

กลับสู่สารบัญ

อาการปวดหลังร้าวลงขาสามารถนวดได้จริงหรือ ทำไมแพทย์สั่งห้ามนวด

การที่แพทย์สั่งห้ามนวดนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการนวดทั่วๆ ไป โดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญนั้น โดยมากแล้วมักจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะผู้นวดที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการสลายพังผืดที่เกาะตามมัดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ และเส้นประสาทนั้น มีจำนวนน้อยมากในปัจจุบัน

อีกทั้งยังมีหมอนวดบางคนเข้าใจผิดว่า การนวดที่ดีคือการนวดแรงๆ หนักๆ หรือต้องมีการกระตุก กระชาก ให้เส้นเข้าที่ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดและสามารถส่งผลร้ายกับร่างกายของผู้ป่วยได้

เพราะต่อให้นวดแรงแค่ไหน ถ้าหาพังผืดไม่เจอ ไม่สลายพังผืดออก อาการปวดก็ไม่มีทางหายได้ เช่นเดียวกันกับการกระตุก กระชาก ถ้าไม่เข้าใจเสียก่อนว่า การที่กล้ามเนื้อหรือข้อต่อที่ปวด ยึดรั้งอยู่นี้ เกิดจากการที่มีพังผืดไปเกาะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ แห้งแข็ง สูญเสียความยืดหยุ่น การกระตุก กระชาก จะมีแต่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่มีปัญหาฉีกขาดมากขึ้น หรืออาจทำให้ข้อต่อเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งไปเลย ซึ่งอาจกลายเป็นอาการที่หนักกว่าเดิมได้

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แพทย์จะสั่งห้ามนวด เพราะผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงที่จะได้เจอกับหมอนวดที่ไม่ชำนาญและอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้นกว่าเดิม

กลับสู่สารบัญ

ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาด้วยการนวดสลายพังผืด

สิ่งที่ผู้ป่วยควรพิจารณาก่อนตัดสินใจรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาด้วยการนวดสลายพังผืด

1. การนวดแก้อาการสลายพังผืด ถึงแม้ว่าจะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายอย่างถาวรได้ก็จริง แต่อาจไม่ได้หายภายในครั้งเดียว

จริงอยู่ว่าในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งเริ่มมีอาการปวดนั้น การนวดสลายพังผืดที่กระทำโดยผู้ชำนาญ อาจทำให้อาการดีขึ้นได้ตั้งแต่ครั้งแรก แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังมา ก็จำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษา ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้อาการหายช้าหรือเร็วนั้นจะขึ้นอยู่กับ

  • ความเชี่ยวชาญของผู้นวดแก้อาการ

ผู้รักษาที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษา เมื่อตรวจอาการแล้วจะรู้ทันทีว่าต้นเหตุของอาการอยู่ที่ใด และต้องแก้ที่ตำแหน่งใด ซึ่งจะแตกต่างผู้รักษาที่ไม่มีความชำนาญโดยสิ้นเชิง เพราะผู้ที่ไม่มีความรู้ ความชำนาญ จะไม่สามารถแยกได้ว่ากล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อต่อที่มีความผิดปกตินั้น ผิดปกติเพราะอะไร และควรต้องแก้ไขอย่างไร

การรักษาโดยผู้ที่ชำนาญการ จะให้ผลการรักษาที่รวดเร็ว แม่นยำ และตรงจุด จนผู้ป่วยรู้สึกได้เองถึงความแตกต่าง

  • ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการสะสมมา

ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง หรือ มีอาการเป็นๆ หายๆ มานาน หรือเคยใช้งานกล้ามเนื้อหลังมานาน ย่อมต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่าผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการ เนื่องจากในผู้ป่วยที่มีอาการมานาน พังผืดจะเกาะแทรกและลุกลามไปในชั้นกล้ามเนื้อในหลายๆ จุด และในบางเคส พังผืดได้ลุกลามไปยึดเกาะบริเวณข้างเคียง ได้แก่ สะโพก ต้นขา ก้น ต้นขา หัวเข่า หน้าแข้ง หรือข้อเท้า ดังนั้นจะต้องรักษาหลายครั้งกว่าจะสลายพังผืดออกจนหมด

ในขณะที่ผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการไม่นานนั้น จะมีพังผืดยึดเกาะเพียงเล็กน้อย และจะเกาะอยู่เพียงกล้ามเนื้อชั้นบนๆ ไม่ได้เกาะฝังลงลึก หรือเกาะลุกลามไปที่ต่างๆ เหมือนผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง ดังนั้น จึงใช้เวลารักษาน้อยกว่า ได้ผลที่ชัดเจนกว่า และหายไวกว่า

  • สภาพกล้ามเนื้อของผู้ป่วย

ผู้ป่วยแต่ละท่านมีสภาพกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องของความสามารถในการคลายตัว หรือในเรื่องความหนืดแข็งของพังผืด ผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อที่คลายตัวได้เร็ว หรือมีพังผืดนิ่มจะเห็นผลการรักษาที่ชัดเจนและไวกว่าผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อที่คลายตัวช้า หรือมีพังผืดหนืดแข็ง

2. การนวดสลายแก้อาการสลายพังผืด มีความเจ็บ

เนื่องจากการนวดสลายพังผืดจะเน้นไปที่การรักษาอาการของผู้ป่วยให้ทุเลา ไม่ได้เน้นเรื่องความผ่อนคลาย ดังนั้น ขณะทำการรักษา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ ซึ่งจะเจ็บมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับวิธีการ หรือเทคนิคของการนวดแก้อาการในแต่ละแห่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยวิธีการนวดสลายพังผืดนี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยที่พอทนความเจ็บได้บ้าง หากเป็นผู้ที่ทนความเจ็บไม่ได้เลย อาจจะต้องเลือกการรักษาทางอื่นแทน

3. อาจเกิดการระบมหรือรอยฟกช้ำขึ้นหลังจากการนวด

การนวดแก้อาการสลายพังผืดนั้น อาจะทำให้เกิดความระบมหรือมีรอยฟกช้ำขึ้นหลังจากการรักษา โดยส่วนใหญ่แล้วอาการระบมและรอยฟกช้ำ จะเกินระยะเวลาประมาณ 3-10 วัน โดยจะระบมมาก-น้อย หรือ ฟกช้ำ มาก-น้อย แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการนวดรักษาของสถานที่นวดแก้อาการแต่ละแห่ง

4. ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการจะสูงกว่าการนวดทั่วไป

โดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการนวดทั่วไป เนื่องจากผู้ที่จะทำการนวดแก้อาการได้นั้น ไม่ใช่แค่ใครก็ได้ที่นวดแผนไทยเป็น แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านการสลายพังผืดในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และ ข้อต่อ มากกกว่าหมอนวดแผนไทยอย่างมาก ซึ่งผู้ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญในด้านนี้จริงๆ มีจำนวนค่อนข้างน้อย

ค่าใช้จ่ายในการนวดแก้อาการที่พบในปัจจุบันนั้น มีตั้งแต่ 500.- จนไปถึงหลักหมื่นบาท (xx,xxx) ต่อครั้ง ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลและปัจจัยต่างๆ ของสถานที่นวดแก้อาการแต่ละแห่งว่าที่ใดมีความเชี่ยวชาญ สามารถรักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าต่อผู้ป่วยมากที่สุด

กลับสู่สารบัญ

คำแนะนำส่งท้ายสำหรับผู้ที่กำลังมีอาการปวดหลังร้าวลงขา

อาการปวดหลังร้าวลงขา ชาลงขานั้น สามารถทรุดหนักจนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือแม้กระทั่งทำให้เสียสุขภาพจิตได้ เพราะผู้ป่วยจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ดังนั้นหากเริ่มมีอาการปวดหลังร้าวลงขา อย่าปล่อยไว้ เพราะอาการจะค่อยๆ ทรุดหนักลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจถึงขั้นต้องผ่าตัด ทำให้เสียเวลาในการพักฟื้น และเสียค่าใช้จ่ายตามมาอีกมากมาย ทางที่ดีควรรีบรักษาให้หายจากต้นเหตุ เพื่อให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด และไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกเมื่อแก่ตัวลง